“นฤมล” ให้กำลังใจเด็กฉวางรัชดาฯ ฝากตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ได้เรียนในสิ่งที่ชอบ เพื่อสร้างฐานชีวิตที่มั่นคงในอนาคต
วานนี้ (18 กรกฎาคม 2568) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ศธ. ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา และติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา ณ โรงเรียนฉวางรัชดาภิเษก อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมคณะ และมีนายเฉลิมชัย จิตรสำรวย ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู และนักเรียนให้การต้อนรับ
ในโอกาสแรก รมว.ศธ. และคณะผู้บริหาร ได้พบปะพูดคุยกับนักเรียนของโรงเรียนฉวางรัชดาภิเษก โดยได้ให้กำลังใจ และ รมว.ศธ.ได้กล่าวฝากว่า ขอให้นักเรียนทุกคนไม่ว่าจะมีฐานะความเป็นอยู่อย่างไร ก็ขอให้ตั้งใจเรียน เพราะการศึกษาจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างอนาคตของตัวเอง ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการเลือกเรียนต่อในสิ่งที่ชอบ และเมื่อมีอาชีพและมีงานทำ ก็ขอให้มีครอบครัวที่ดี มีความสุขในระยะยาว พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นเพื่อพัฒนาโรงเรียน โดยนักเรียนได้เสนอความคิดเห็นที่หลากหลาย เช่น ต้องการโดมอเนกประสงค์รองรับจำนวนนักเรียนกว่า 2,000 คน สนามแบดมินตัน อุปกรณ์และเครื่องดนตรี สระว่ายน้ำ ตลอดจนการปรับการเรียนการสอนให้น่าสนใจ ตรงประเด็น ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมและได้ลงมือทำจริง ทำให้นักเรียนต้องการมาโรงเรียนมากขึ้น และเรื่องของจิตวิทยาในสถานศึกษาที่เข้มแข็ง เพื่อรับฟังดูแลนักเรียนด้านสภาพจิตใจ และลดการแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายต่อไป
จากนั้น รมว.ศธ. ได้พบปะและมอบนโยบายกับผู้บริหารและคณะครูในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนหนึ่งว่า “มีความตั้งใจจะดำเนินการขับเคลื่อนและพัฒนางานด้านการศึกษาในหลายส่วน คือ 1. ให้มีวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย และหน้าที่ความเป็นพลเมืองบรรจุในหลักสูตรอย่างชัดเจน เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจหน้าที่ตัวเอง ในระบอบปกครองของประเทศ ที่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2. การลดภาระงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เชื่อมโยงกับการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ทำให้ครูไม่ต้องทำงานอื่น ทั้งพัสดุ การเงิน และเอกสารต่าง ๆ เพื่อให้ครูมีเวลาพัฒนางานของตนเอง และมุ่งสอนลูกศิษย์ให้มากยิ่งขึ้น พร้อม ๆ กับการเลื่อนวิทยะฐานะ ที่ขณะนี้กระบวนการพิจารณารวดเร็วขึ้น แต่จำนวนของครูและผู้บริหารที่ผ่านประเมินกลับลดลง ทั้ง ๆ ที่วิทยฐานะเชื่อมโยงกับค่าตอบแทน สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับครูได้ จึงไม่ควรจะยากเกินไป เพราะจะทำให้ขาดกำลังใจ
ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่มีอยู่กว่า 1.4 ล้านล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่เป็นครูเกษียณ ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือเรื่องการรวมหนี้ กับเลขาธิการ สกสค. สถาบันการเงิน ผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์ครู โดยจะต้องพิจารณาในเรื่องข้อกฎหมายต่อไป เพื่อเป็นทางเลือกให้กับครูที่เป็นหนี้และต้องการปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป รวมทั้งสวัสดิการของครู ที่จะต้องนำมาพิจารณาเพื่อปรับให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน” รมว.ศธ.กล่าว
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: ถ่ายภาพ/กราฟิก
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
18/7/2568