สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 และการประชุมวิชาการนานาชาติฯ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 และการประชุมวิชาการนานาชาติฯ

วันนี้ (16 ตุลาคม 2567) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2567 และการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3 โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กราบบังคมทูลรายงาน และเฝ้าฯ รับเสด็จ ณ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม 2 เมืองทองธานี จัดโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ จาก 11 ประเทศ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ ได้มีถ่ายทอดสดไปยังสถานเอกอัครราชทูตไปในประเทศอาเซียน ติมอร์-เลสเต บังกลาเทศ มองโกเลีย และภูฏาน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสในการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ว่า เป็นเวลา 10 ปีแล้วนับตั้งแต่มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2558 ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นครูที่มีความโดดเด่นของอาเซียนและติมอร์-เลสเต และในปีหน้าจะมีครูดีเด่นอีก 3 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน และมองโกเลีย มาร่วมฉลองกับเรา

ช่วงศตวรรษที่ 21 จะได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีเกิดใหม่มากมาย เช่น AI เรา ในฐานะที่เป็นครู ต้องปรับตัวและพยายามเรียนรู้ว่าเทคโนโลยีใหม่ จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนอย่างไร แม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ทักษะการเรียนรู้หลักก็ควรจะยังคงอยู่ ได้แก่ การรู้หนังสือ ความสามารถในการทำงาน ความสมดุลในตนเอง จริยธรรม และการปรับตัวเชิงสังคม ครูจึงไม่ควรหยุดเรียนรู้ เราต้องมีกลยุทธ์สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และขอให้เราใช้โอกาสนี้ ในการแบ่งปันสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการสอนของเรา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับเส้นทางการสอนและการเรียนรู้ของเรา เพื่อสร้างความแตกต่างเชิงบวกในชีวิตของนักเรียนทุกคน ขอให้ครู PMCA เป็นดั่งแสงสว่างแห่งแรงบันดาลใจ จุดประกายความอยากรู้อยากเห็นในจิตใจของเด็ก ๆ นำทางพวกเขาผ่านความท้าทาย และเฉลิมฉลองชัยชนะของพวกเขา

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กราบบังคมทูลรายงาน ความตอนหนึ่งว่า การประชุมวิชาการนานาชาติ จะจัดสลับกับการพระราชทานรางวัลมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเพื่อเชิดชูครูดีเด่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงาน มุมมองทางการศึกษา และความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพครู ในปีนี้มีครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลทั้งสิ้น 44 คนจาก 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมการประชุม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ที่จะช่วยยกระดับศักดิ์ศรีและศักยภาพในการประกอบวิชาชีพให้แก่เพื่อนครูต่อไป

สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มีครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่น่าสนใจ ดังนี้

– นาย โมฮาหมัด อาเมียร์ เออร์วัน ฮาจี ม๊อกซิน ครูสอนภาษาอังกฤษ บรูไนดารุสซาลาม แลกเปลี่ยนว่า การเล่นเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในกลุ่มเด็กปฐมวัย

– นางจักรียา เฮ ครูสอนคณิตศาสตร์ กัมพูชา แลกเปลี่ยนการผสมผสานวิชา STEM ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในลักษณะกิจกรรมทดลองทางวิทยาศาสตร์และเกม เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีประสบการณ์เรียนรู้ที่ดี

– นางฮาริสดายานี ครูสอนภาษาอังกฤษ ผู้ใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย อินโดนีเซีย แลกเปลี่ยนว่า หลังจากที่ได้รับพระราชทานรางวัล ฯ ได้นำเงินส่วนหนึ่งมาปรับปรุงอาคารเรียนและพัฒนาสื่อการสอน ช่วยเพิ่มคาบเรียนภาษาอังกฤษแก่เด็ก

– นางกิมเฟือง เฮืองมะนี ครูใหญ่และครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา สปป.ลาว แลกเปลี่ยนถึงแรงบันดาลใจของการเป็นครู หลังจากได้รับพระราชทานรางวัลได้นำเงินมาพัฒนาโรงเรียน เช่น เครื่องกรองน้ำ สื่อการสอน ส่งเสริมกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์

– นายไซฟูนิซาน เช อิสมาเอลท ครูคณิตศาสตร์ที่มีพื้นฐานด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และไอที มาเลเซีย แลกเปลี่ยนการเรียนรู้คณิตศาสตร์สู่ชีวิตประจำวัน การใช้แอปพลิเคชันผ่าน Story telling และหุ่นยนต์

– ดอ อาย ซู หวิ่น ครูสอนภาษาอังกฤษ เมียนมา แลกเปลี่ยนว่า หลังจากได้รับพระราชทานรางวัล ฯ ได้นำไปพัฒนาโรงเรียน เช่น ไฟฟ้า ระบบกรองน้ำ พื้นที่ล้างมือในโรงเรียน รวมถึงพัฒนาภาษาอังกฤษ

– นายเจอร์วิน วาเลนเซีย ครูคณิตศาสตร์ ฟิลิปปินส์ แลกเปลี่ยนการสอนจากมุมมองคณิตศาสตร์ เป็นเพียงวิชาสู่การผสาน M.A.T.H. เข้ากับชีวิตประจำวัน เน้นการลงมือทำ

– นางชิว หลวน เพนนี ชง ครูการศึกษาพิเศษที่มีความบกพร่องทางสายตา สิงคโปร์ แลกเปลี่ยนวิธีการเรียนที่มีประสิทธิภาพสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น การจัดทัศนศึกษาเพื่อการเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนทั่วไป

– นางสาว ฟิโลมินา ดา คอสต้า ครูสอนภาษาอินโดนีเซีย ติมอร์-เลสเต แลกเปลี่ยนว่า หลังจากได้รับพระราชทานรางวัล ฯ รวมถึงได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนของประเทศ ได้นำเงินมาพัฒนาชุมชนให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเทศ เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์

– นายมา หุ่ง เหงียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน เวียดนาม แลกเปลี่ยนการบริหารงานโรงเรียนและการสอนภูมิศาสตร์ พร้อมสอนให้นักเรียนเป็นเลิศทางวิชาการ ควบคู่ทักษะชีวิต อาทิ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การเอาชีวิตรอดจากอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ การปฐมพยาบาล

– นายนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ครูการศึกษานอกโรงเรียนที่บ้านโมโคคี บ้านมอโก้คี ผู้บุกเบิกศูนย์การเรียนรู้ชุมชนพื้นที่เขาแม่ฟ้าหลวง จังหวัดตาก ประเทศไทย แลกเปลี่ยนถึงกิจกรรมของศูนย์การเรียนรู้กาแฟมอโกคี อาทิ การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน และการขยายผลการเรียนรู้ไปยังเครือข่ายชุมชนอื่น ๆ ร่วมกับ กสศ.

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ : มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

พิชญ์พิศุทธ์ ทิมวัฒน์ : สรุป

นวรัตน์ รามสูต : เรียบเรียง

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ. : รายงาน

16/10/2567

[Sassy_Social_Share]