“นฤมล” ลงพื้นที่สุราษฎร์ฯ รับฟังปัญหา เตรียมเกลี่ยอัตรากำลังเร่งด่วน ย้ำหัวใจ “ครู” คือนักเรียน-งานวิชาการ ไม่ใช่งานสนับสนุน
วันนี้ (20 กรกฎาคม 2568) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ศธ. ลงพื้นที่ประชุมตรวจเยี่ยมสถานศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา ณ ห้องประชุมครูลำยอง โรงเรียนสุราษฎร์ธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมเยี่ยมบูธแสดงนิทรรศการผลงานเด่นของโรงเรียนสุราษฎร์ธานี โดยมีนายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี คณะผู้บริหาร ศธ. ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา คณะครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนนายเกรียงไกร แก้วมีศรี ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู และนักเรียน เข้าร่วมและให้การต้อนรับ
นางนฤมล กล่าวว่า จากการรับฟังปัญหาพบว่า มีทั้งเรื่องการจัดสรรอัตรากำลังคน การจัดสรรงบประมาณ ที่ยังไม่เพียงพอ ซึ่ง เรื่องอัตรากำลัง ไม่ได้เบ็ดเสร็จที่ ศธ. ขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน( ก.พ.) และแผนยุทธศาสตร์รัฐบาล
“เราพยายามต่อสู้ เพื่อให้ได้อัตรากำลังเพิ่ม รวมทั้งอัตรากำลังของสายสนับสนุน เพื่อให้ครูใช้เวลาหลักในการดูแลนักเรียน หัวใจครูควรจะอยู่กับนักเรียนและงานวิชาการ ที่จะเพิ่มวิทยฐานะ ความรู้ความเชี่ยวชาญให้ตัวเอง และพัฒนาโรงเรียน ไม่ใช่ไปทำงานสนับสนุนอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่แค่เพิ่มภาระ แต่ยังเพิ่มความเสี่ยง“ นางนฤมล ย้ำ
นางนฤมล กล่าวต่อว่า จากการรับฟังปัญหา พบว่ามีครูในโรงเรียนต่างๆ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล ทำให้เกิดปัญหาในชีวิต เรื่องนี้ต้องแก้ไข จัดคนให้ครบ ถ้าเรื่องใดทำได้ในกระทรวง ก็พร้อมจะทำก่อน แต่ถ้าต้องไปขออัตรากำลังเพิ่ม ก็ต้องสู้ ตนในฐานะฝ่ายการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ก็ต้องคุยกับนายกรัฐมนตรี คุยกับสำนักงาน ก.พ. ว่าจำเป็นต้องขยับ จะเพิ่มให้เท่าไร ปีละเล็กน้อยเท่าไรก็ได้ แต่ขอให้ได้เพิ่ม ส่วนภายในกระทรวงที่ทำเตรียมไว้แล้ว วันที่ 31 กรกฎาคม นายธนู ขวัญเดช เลขาธิการ ก.ค.ศ. จะเกลี่ยครูเกินเกณฑ์ กว่า 600 อัตรา มาจัดสรรเป็นอัตราสายสนับสนุน เริ่มต้นที่โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยก่อน ลำดับถัดไปจะมีอีกกว่า 2,000 อัตรา ซึ่งก็ต้องมาดูว่าควรจะจัดสรรไปที่ไหน อย่างไรบ้าง ที่จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระครูได้
”ดิฉันเอง ก็ไม่ต้องเรียกท่าน เป็นหัวหน้าพรรคกล้าธรรม (กธ) คนในพรรคก็เรียก อาจารย์แหม่ม อยู่ที่กระทรวง ก็อยากให้เรียกอะไรก็ได้ที่สบายใจ อาจารย์แหม่มก็ได้ พี่แหม่มก็ได้ ส่วนการทำงานขอให้เป็นในลักษณะครอบครัวเดียวกัน ปรึกษาหารือและบูรณาการการทำงานร่วมกัน พร้อมทั้งต้องการให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็น สะท้อนปัญหา นำไปสู่การตกผลึกเป็นนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาต่อไป“ นางนฤมล ระบุ
จากนั้น นางนฤมล และคณะเดินทางต่อไปยังโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 64 โดยได้ร่วมเป็นสักขีพยานการรับมอบปัจจัยการผลิต จากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมอบพันธุ์ไก่ เป็ด ปล่อยปลา กล้าและเมล็ดพันธุ์ผัก รวมทั้งการสำรวจดินและปุ๋ยหมักให้กับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 64 อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในโอกาสนี้ รมว.ศธ. ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นในการปรับปรุงและพัฒนาโรงเรียน โดยนักเรียนได้เสนอความต้องการเกี่ยวกับการซ่อมแซมหลังคาและห้องน้ำบนหอนอน โดมอเนกประสงค์ ตลอดจนอุปกรณ์กีฬา กังหันน้ำและรถแทรกเตอร์สำหรับจัดการเรียนการสอนเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาในพื้นที่สุราษฎร์ธานีด้านอุปกรณ์การเกษตรและองค์ความรู้
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: ถ่ายภาพ/กราฟิก
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
20/7/2568