ครูกัลยา เปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพโรงเรียนแม่ข่าย “โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ”

เมื่อวันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม 2565 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพโรงเรียนแม่ข่ายโครงการ วิทยาศาสตร์พลังสิบ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมี ผู้บริหาร ครูโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และครูจากโรงเรียนเครือข่ายวิทยาศาสตร์พลัง เข้าร่วม ณ ห้องฉายภาพยนตร์สามมิติ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระยะเวลา 10 ปี  เพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนที่มีความสนใจพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ในทุกพื้นที่ ซึ่งมีการวางเป้าหมายพัฒนาครูมากกว่า 10,000 คนต่อปี นักเรียน 100,000 คนต่อปีของแต่ละระดับชั้น ซึ่งดำเนินการโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย อีก 5 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการในทุกมิติทั้งด้านหลักสูตร กิจกรรมการเรียนรู้ การพัฒนาครู ผู้บริหาร นักเรียนและการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ให้กับโรงเรียนในโครงการ

ทั้งนี้ โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ถือเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเรียนและต้องเรียนวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ตามช่วงวัย โดยไม่ได้คาดหวังให้นักเรียนต้องเรียนเก่งทุกคน แต่จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพื่อรับมือกับสังคมที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด  หรือ VUCA World ที่มีความผันผวน  และความไม่แน่นอน และขอให้เสริมด้านโค้ดดิ้ง (Coding) และสติ หรือ STI (Science, Technology, Innovation )

ขณะเดียวกันขอให้ครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมครั้งนี้ เน้นความสำคัญของ STEAM Education โดย A หมายถึง Art of Life, Art of Living and Art of working Together เช่น ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ความเมตตากรุณา ความกตัญญู อารมณ์สุนทรีย์ ซึ่งเป็นต้นทุนของประเทศไทยอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้จะส่งให้บุคลากร นักเรียนของประเทศไทยชนะในเวทีโลกได้ ซึ่งยกตัวอย่าง ทีมนักเรียนที่ชนะเลิศการแข่งขันด้านอวกาศ เรื่องดาวเทียม

โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ยังได้เยี่ยมชม การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพโรงเรียนแม่ข่าย ในเรื่องต่างๆ เช่น ด้านเคมี ด้านฟิสิกส์ และด้านดาราศาสตร์ อีกด้วย

 

ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน

[Sassy_Social_Share]