ครูเอ ตรวจเยี่ยมต้นแบบศูนย์บ่มเพาะ “สงขลาพัฒนาปัญญา” สร้างการเรียนรู้คู่สร้างรายได้ระหว่างเรียน
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมดำเนินงาน โครงการพัฒนาสถานศึกษาต้นแบบเป็นศูนย์บ่มเพาะการเรียนรู้เพื่อสร้างรายได้สู่ความยั่งยืน (Learn to earn to School Model for sustainability) และมอบนโยบายการจัดการเรียนการสอน กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ณ โรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
รมช.ศธ. กล่าวว่า รัฐบาลได้มีนโยบายด้านการศึกษา ที ่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่เป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ โดยจะส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนในทุกช่วงวัย ด้วยการพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ ตลอดชีวิต ตลอดจน เสริมสร้างทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง เพื่อสร้างรายได้
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ มีความมุ่งมั่นสานต่อนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียน ภายใต้หลักการ “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” ด้วยแนวทางการทำงาน จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน เพื่อสร้างการศึกษาเท่าเทียม ผ่านเครือข่ายการศึกษาทุกภาคส่วน เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ ได้แก่ 1. ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา พัฒนาและต่อยอดวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา การย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น การแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ การจัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ ให้เพียงพอและเหมาะสม การยกเลิกครูเวร เพื่อชีวิตและความปลอดภัยของครู การจัดหานักการภารโรง การปรับลดภาระงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน และการแก้ปัญหาการขาดแคลนครูฯ 2. ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ทั้งส่งเสริมการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียน เป็นศูนย์กลาง” มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา (Zero Drop out) ให้มีโอกาสได้รับการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โรงเรียนคุณภาพอย่างน้อย 1 โรงเรียน ต่อ 1 อำเภอ การพัฒนาระบบการแนะแนวการเรียน (Coaching) และพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ศักยภาพผู้เรียน และมีระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา การประเมินผลการศึกษา ผ่าน ธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) รวมทั้งพัฒนาทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงของผู้เรียน มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) การจัดให้มีอาหารสำหรับนักเรียน เพื่อแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ กระบวนการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้เรียน และสร้างโอกาสให้คนทุกช่วงวัย เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอบรมอย่างเท่าเทียม
ในโอกาสนี้ รมช.ศธ. ได้จัดเลี้ยงไอศกรีมและขนมให้กับนักเรียนทุกคน พร้อมมอบอุปกรณ์กีฬา ส่งเสริมศักยภาพและความแข็งแรง ก่อนเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนทักษะอาชีพ ด้านการบริการล้างรถ (Car Care Clinic) ตัดผมชาย (Songkhla barber) งานประดิษฐ์ เช่น การทอผ้าซาโอริ การจัดดอกไม้แห้ง เครื่องประดับจากลูกปัด ผ้ามัดย้อม ตัดเย็บเสื้อผ้า พวงกุญแจ ยาดมสมุนไพร กระเป๋าผ้าปาเต๊ะ ตลอดจนการประกอบอาหารและขนม
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
ฤทธิเกียรติ์ ยศประสงค์: ถ่ายภาพ/กราฟิก
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
18/2/2568