คุณหญิงโค้ดดิ้ง เปิดงาน”Coding Achievement Awards” ภาคใต้ ปลื้มผลงานการสอน 3 ปี มั่นใจเด็กมีภูมิคุ้มกันรับ VUCA World
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน 2565 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดงานเผยแพร่องค์ความรู้และแสดงผลงานดีเด่นด้าน Coding “CODING Achievement Awards” ภาคใต้ ณ โรงแรมบรรจงบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้แทนสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฏร์ธานี ประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี คณะผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา คณะศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา จำนวน 300 คน เข้าร่วมงาน
นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานี มุ่งสู่การเป็นสังคมปลอดภัยและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีศักยภาพในการแข่งขัน หนึ่งในเป้าหมายคือให้เยาวชนได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ ซึ่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นการเน้นที่องค์ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญและสมรรถนะที่เกิดกับตัวผู้เรียน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตในสังคมแห่งความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โรงเรียนต้องเน้นให้นักเรียนได้สัมผัสกับความเป็นจริง หรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันที่สามารถนำไปใช้ได้จริงที่ไม่จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่นักเรียนสามารถศึกษาค้นคว้าได้จากคลังแห่งความรู้ทั่วโลก ด้านครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ไปเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือคอยให้คำแนะนำ นักเรียนก็เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้คอยรับความรู้เพียงอย่างเดียว เป็นผู้ที่ต้องศึกษา คันคว้า หาข้อมูล และปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างองค์ความรู้อย่างยั่งยืน
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานพิธีเปิดและมอบโล่รางวัลเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับครูผู้มีผลงานดีเด่นด้าน Coding และจัดนิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้ด้าน Coding ในวันนี้ จากที่เริ่มผลักดันโครงการ Coding ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้นักเรียนทุกคนในประเทศไทยได้มีโอกาสเรียน Coding ให้มีทักษะ คิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
ซึ่งการสอน Coding ในโรงเรียนจะเป็นการเปิดโลกใบใหม่ผ่านเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีอยู่ นอกจากจะเป็นการจุดประกายให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสาขาอาชีพในอนาคตแล้ว ยังเป็นการสร้างทักษะในการวางแผน การแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ ส่งเสริมการใช้ตรรกะในการแก้ปัญหา จึงเป็นความท้าทายสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จะช่วยชี้แนะ หรือมีส่วนร่วมในการวางแผนอนาคตของเด็กให้สามารถปรับตัวได้ในสภาพแวดล้อมที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
นายสมบูรณ์ เรืองแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุราษฎร์ธานี ชุมพร กล่าวว่า การจัดงานเผยแพร่องค์ความรู้และแสดงผลงานดีเด่นด้าน Coding “CODING Achievement Awards” ทั้งในรูปแบบ Unplugged และ Plugged ภาคใต้ ประจำปี 2565 ได้เปิดรับสมัครให้ทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในภาคใต้ ดำเนินการคัดเลือกคุณครูผู้สอนในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือกลุ่มสาระอื่นที่ได้นำองค์ความรู้ด้าน Coding ไปบูรณาการให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นอย่างเหมาะสมทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งมีครูส่งผลงานเข้าร่วมคัดเลือก ทั้งสิ้น จำนวน 44 คน แบ่งเป็น
• ประเภท Unplugged ระดับประถมศึกษา จำนวน 14 คน
• ประเภท Unplugged ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 5 คน
• ประเภท Plugged ระดับประถมศึกษา จำนวน 13 คน
• ประเภท Plugged ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 12 คน
คณะกรรมการตัดสินผลงาน ซึ่งเป็นทีม Coding Mentor ที่ได้รับแต่งตั้งจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ดำเนินการตัดสินผลการประกวด สรุปผลงานได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตร จำนวน 30 คน และผลงานได้รับเกียรติบัตรเข้าร่วม จำนวน 14 คน
โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้รับชมการสาธิตการสอน Unplugged Coding ของระดับมัธยมศึกษา ในการแก้ปัญหา Tower of HANOI และเยี่ยมชมการจัดนิทรรศการผลงานดีเด่นด้าน Coding ภาคใต้ ซึ่งมีผลงานที่น่าสนใจ อาทิ
ผลงานดีเด่น Unplugged Coding “ขยะไม่ไร้ค่า” จากโรงเรียนบ้านกู้กู จังหวัดภูเก็ต โดยใช้กิจกรรมเดินเกมบนตารางนำเรื่องใกล้ตัวที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้จากแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นและอาศัยประสบการณ์เดิมของนักเรียนมาคิดแก้ปัญหา ด้วยการช่วยกันวางแผนให้หุ่นยนต์เดินไปตามเส้นทางที่สามารถเก็บขยะใส่ตะกร้าให้ได้มากที่สุด คุ้มค่ามากที่สุด และต้องคำนวณราคาขยะที่เก็บไปด้วยว่าเก็บไปได้กี่ชิ้นแล้วและราคารวมเป็นเท่าไร หากเก็บขยะผิดประเภทก็จะมีการติดลบคะแนนอีกด้วย
ผลงานดีเด่น Plugged Coding ระดับมัธยมศึกษากิจกรรมการเรียนรู้ Scratch Game Maker จากโรงเรียนบ้านเกาะมุกด์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นักเรียนจะเรียนรู้จากตัวอย่างเกมที่ครูสร้างขึ้น โดยครูเป็นผู้แนะนำการสร้างเกมและตั้งคำถาม ทำให้นักเรียนสามารถสร้างเกมอย่างง่ายด้วยโปรแกรม Scratch สามารถช่วยพัฒนาทักษะในการเรียนเขียนโค้ดของนักเรียนให้ดีขึ้นจนสร้างผลงานได้ และกิจกรรมนี้จะสอนให้ผู้เรียนได้เป็นนวัตกรน้อยในการสร้างสรรค์เกมการศึกษาที่นำไปใช้กับสำหรับน้องปฐมวัย
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า รู้สึกภูมิใจมากที่ได้เตรียมเด็กมาแล้วกว่า 3 ปี โดยเริ่มจากการเรียน Unplugged Coding ก่อน เมื่อเติบโตขึ้นจึงพัฒนาไปเป็น Plugged Coding อาจจะมีความพร้อมมากหรือน้อยแตกต่างกันไป แต่ก็จะมีภูมิคุ้มกันเพื่อเผชิญ VUCA World อย่างแน่นอน โดยมีเป้าหมายใหญ่เพื่อให้คนไทยสร้างแพลตฟอร์มเป็นของตัวเองให้ได้ ทั้งนี้ทักษะ coding จะต้องแข็งแรงทั้งสองอย่างจึงจะช่วยให้เจอกับโลกยุคใหม่อย่างเข้มแข็ง ไม่ถูกหลอกง่าย เป็นคนดีและเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจให้ครอบครัวด้วยการนำความรู้ด้าน coding ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือทรัพยากรที่มีอยู่ ดังเช่นตัวอย่างที่นำมาแสดงวันนี้ ก็ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้พัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
[Sassy_Social_Share]