รมว.เพิ่มพูน เปิดสัมมนา ทอผ้าผืนใหม่ สู่การศึกษาไทยไร้รอยต่อ ฝากเปิดมุมมองใหม่ หลุดจากกรอบเดิม เพื่อร่วมพัฒนาการเรียนรู้อย่างยั่งยืน
รมว.ศธ. กล่าวตอนหนึ่งว่า หัวข้อการสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจในมิติของการศึกษา ที่เป็นการรวมตัวผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้นำการศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อร่วมค้นหาแนวทางใหม่ ๆ ในการพัฒนาการศึกษาไทยให้เป็นระบบที่ไร้รอยต่อ (Seamless Education) สอดรับกับสิ่งที่ผมปรารถนาในการขับเคลื่อนการศึกษา ตามนโยบายเรียนดี มีความสุข เราตั้งต้นด้วยความสุข ในการเรียน การสอน และการทำงาน แม้กระทั่งผู้ที่มาสัมมนาเพื่อพัฒนาการศึกษาร่วมกัน โดยการศึกษาที่จะทำให้เกิดการไร้รอยต่อได้ สิ่งสำคัญคือ ขอให้เปิดมุมมองให้กว้าง รับฟังและวิพากษ์การนำเสนอหลาย ๆ รูปแบบ นำไปใช้ให้สอดคล้องกับบริบทโรงเรียนและพื้นที่แต่ละแห่งด้วย ซึ่งคงไม่มีแนวทางใด ตอบโจทย์โรงเรียนใดทั้งหมด แต่การนำแนวทางทั้งใหม่และเก่าไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์และเข้ากับบริบทโรงเรียนนั้น ๆ ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน
ทั้งนี้ หวังว่าการสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในระบบการศึกษา พร้อมฝากหลักคิดที่เป็นหัวใจในการทำงาน คือ “อยากเรียน อยากรู้ อยากคิด อยากทำ” ซึ่งสอดคล้องกับการสัมมนาที่ต้องช่วยกันคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ นำไปสู่การทำงานร่วมกันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยขอให้ใช้ความอยากของเราเป็นพลังขับเคลื่อนให้การศึกษาเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเสวนา มุมมองและข้อคิดต่อข้อเสนอการศึกษาไร้รอยต่อ ตอนหนึ่งว่า กระทรวงศึกษาธิการ โดยการนำของ รมว.ศธ. ให้ความสำคัญและเปิดรับความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาการศึกษาร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมา เราได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ เสมือนการเริ่มทอผ้าผืนใหม่แล้ว เช่น การจัดทำระบบธนาคารหน่วยกิต เพื่อเทียบโอนการศึกษาที่ไม่เพียงสายอาชีพกับอุดมศึกษาเท่านั้น อนาคตสายสามัญก็สามารถเทียบหน่วยกิตได้ รวมทั้งการเทียบมาตรฐานวิชาชีพด้วย ทั้งนี้ ขอฝากประเด็นให้ร่วมกันขบคิด เพื่อร่วมกันทอผ้าผืนใหม่ตามหัวข้อของการจัดงานครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นการสร้างค่านิยมด้านการศึกษาและวัฒนธรรมองค์กรการจัดการศึกษาให้เกิดความต่อเนื่อง ช่วงเวลาของการปรับหลักสูตร การประเมินผลการจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรม ที่ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ