“บิ๊กตู่” เปิดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีนักเรียนไทย-ญี่ปุ่น “รมว.ตรีนุช” รับต่อยอดเร่งพัฒนาคนขยายผลการสอนให้คิดเป็น-ทำเป็น
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้การต้อนรับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น Thailand – Japan Student ICT Fair 2022 (TJ-SIF 2022) เมื่อวันพุธที่ 21 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย จังหวัดเชียงราย
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาเห็นความก้าวหน้า ในความร่วมมือด้านการศึกษา ระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น และหวังว่าสิ่งประดิษฐ์ด้าน ICT ของนักเรียน จะส่งผลสำคัญต่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต รัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พยายามยกระดับการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีขีดความสามารถที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและของโลกในยุคปัจจุบัน
“วันนี้เราต้องปรับกระบวนการเรียนการสอน ให้เด็กรู้จักคิด เปิดโลกในเรื่องการศึกษาให้กว้างขึ้น ประเทศไทยต้องการแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของเราไปข้างหน้า ขอฝากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ให้เร่งพัฒนาคน ทางรัฐบาลก็จะหาทางช่วยเหลือสนับสนุนอย่างเต็มความสามารถ อยากให้ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นส่งประกายไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ให้มีการพัฒนาตนเอง ซึ่งต้องหาวิธีการกระตุ้นให้ทั้งครูนักเรียนได้มีโอกาสคิด ว่าจะสร้างการเรียนรู้เหล่านี้ไปยังโรงเรียนอื่นได้อย่างไร” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว
รมว.ศธ.กล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า การจัดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีทีของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น เป็นความร่วมมือทางวิชาการของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กับกลุ่มโรงเรียน โครงการ Super Science High Schools และสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (MEXT) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา จนเกิดเป็นภาพความสำเร็จของนักเรียนไทย-ญี่ปุ่น ได้แสดงศักยภาพในการสร้างและพัฒนานวัตกรรม ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหลากหลายโครงงาน จำนวนมาก อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และต่อประชาคมโลก
“การจัดงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีทีฯ เพื่อเป็นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางด้านไอซีที ของนักเรียนไทย-ญี่ปุ่น รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จัดการเรียนรู้ของครู และการแข่งขัน Programming Hackathon โดยจัดงานรูปแบบไฮบริดจ์ ระหว่างวันที่ 21 – 23 ธันวาคม 2565 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย และผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้การสนับสนุนของมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทั้งยังได้รับเกียรติจากท่านอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ตัวแทนกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จำนวน 12 แห่ง สถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 25 แห่ง กลุ่มโรงเรียนในโครงการ Super Science High Schools ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 17 แห่ง และสถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 11 แห่ง รวมผู้เข้าร่วมงาน กว่า 600 คน” รมว.ศธ.กล่าว
รมช.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวรายงานผลการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตอนหนึ่งว่า ด้วยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยมีโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นต้นแบบ ตั้งแต่ปี 2553 จนสิ้นสุดโครงการในปี 2561 ต่อมาในวันที่ 5 ตุลาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ขยายโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอีก 6 แห่ง จากเดิม 12 แห่ง รวมเป็น 18 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เขตตรวจราชการ เป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาและเพิ่มจำนวนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษา ให้ได้รับการพัฒนาตนเองก้าวสู่การเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ นักคิดค้นในอนาคต สร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ประเทศ นำไปสู่การลดการพึ่งพาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากต่างชาติ นอกจากนี้ ในปี 2561 รัฐบาลยังได้สนับสนุนการพัฒนากำลังที่มีศักยภาพสูงด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยอนุมัติโครงการทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยไปศึกษาต่อ ณ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 24 ทุน และในเวลาต่อมาได้อนุมัติทุนเพิ่มอีกจำนวน 76 ทุน โดยปัจจุบันมีนักเรียนทุนที่กำลังศึกษาและสำเร็จการศึกษาแล้ว รวม 73 คน ในจำนวนนี้กว่า 10 คน สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศด้านผลการเรียนและการแข่งขันในเวทีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
การดำเนินงานของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีเป้าหมายในการเตรียมความพร้อมกำลังคนระดับสูงทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบาย Thailand 4.0 และสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรม 4.0 ในโครงการ Eastern Economic Corridor (EEC) และโครงการอื่น ๆ นอกจากนี้ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ทุกแห่ง ยังจัดให้มีบริการวิชาการให้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่บริการ การเป็นศูนย์พัฒนาขยายผลองค์ความรู้ด้านการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศด้วย เช่น โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ในลักษณะโรงเรียนคู่พัฒนาระดับประถมศึกษากับมัธยมศึกษา ส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในวงกว้างของประเทศไทย ซึ่งผลการดำเนินงานและความสำเร็จดังกล่าว เกิดขึ้นได้ด้วยแรงสนับสนุนของรัฐบาล ที่เล็งเห็นคุณค่า ความสำคัญทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ในนามกระทรวงศึกษาธิการ จึงขอแสดงความขอบพระคุณรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนและให้ความสำคัญทางด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง
[Sassy_Social_Share]