ผลการประชุมประสานภารกิจ 20/2568

วันนี้ (18 มิถุนายน 2568) เวลา 08.00 น. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ได้รับมอบหมายจาก พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ให้เป็นประธานประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 20/2568 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting

รมช.ศธ. กล่าวว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงนักเรียนตามบริเวณชายแดน เนื่องจากปัญหาความตึงเครียดบริเวณดังกล่าว จึงมีดำริให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการซ้อมเรื่องการเผชิญเหตุ มุ่งเน้นการใช้และสำรวจความปลอดภัยในเรื่องหลุมหลบภัย ให้มีการฝึกประจำปีในทุกจังหวัด ไม่ใช่แค่เฉพาะจังหวัดที่ติดบริเวณชายแดนเท่านั้น โดยที่ผ่านมา ศธ. ได้มีการมอบหมายหน่วยงานในสังกัด ให้จัดทำและซักซ้อมการเผชิญเหตุตามแผนปฏิบัติ/แผนจัดการภัยพิบัติมาตลอด และเมื่อเร็ว ๆ นี้ รมว.ศธ. ได้ลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนที่จังหวัดศรีสะเกษ และพบอุปสรรคการใช้งานหลุมฯ บางประการ จึงได้มีข้อสั่งการว่า ให้สำรวจและดูความมั่นคงของหลุมหลบภัย และตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังเปิดเผยว่า การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากลมีความคืบหน้าไปมาก โดยขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนฝึกทำข้อสอบตามแนว PISA เพื่อทดลองใช้งานและปรับปรุงข้อสอบ ตามปัญหาอุปสรรคจากการทดลองทำจริง และได้จัดการอบรมการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ ด้วยกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ และร่วมมือกับกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยในการเป็นโรงเรียนพี่เลี้ยงเครือข่ายร่วมพัฒนา โดยร่วมกันจัดการศึกษาสองทาง และกิจกรรม Open House ขยายผลไปยังโรงเรียน 88 แห่ง นักเรียนที่ได้รับการพัฒนา 2,997 คน และคาดว่าจะขยายผลให้ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศต่อไป

พร้อมนี้ ที่ประชุมฯ รับทราบสรุปการวิเคราะห์ผลการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษา IMD 2025 ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 30 ในเบื้องต้นว่า ตัวชี้วัดสถิติทางการศึกษา (Hard Data Indicators) มีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีค่าที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า ไทยมีพัฒนาการทางการศึกษา แต่ความเร็วของพัฒนาการดังกล่าว ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ไทยมีความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาแซงหน้าประเทศอื่น ๆ ดังนั้น การพัฒนาการศึกษาจะต้องเข้มข้นขึ้น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน

พิชญ์พิศุทธ์ ทิมวัฒน์ : สรุป/กราฟิก

นวรัตน์ รามสูต : เรียบเรียง

ฤทธิเกียรติ์ ยศประสงค์ : ถ่ายภาพ

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร. : รายงาน

18/6/2568

[Sassy_Social_Share]