รมช.คุณหญิงกัลยา ตอบกระทู้ อุดหนุนโครงการอาหารกลางวันนักเรียน รร.เอกชน รับสิทธิ์พื้นฐานเท่าเทียมเด็ก รร.รัฐ-ท้องถิ่น
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2566 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ เรื่อง ขอให้อุดหนุนโครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในโรงเรียนเอกชนในระดับก่อนประถมศึกษา และระดับประถมศึกษา รับสิทธิ์ขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกันกับนักเรียนในโรงเรียนของรัฐและท้องถิ่น ถามโดย ศาสตราจารย์โกวิทย์ พวงงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ณ รัฐสภา
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เดิมกระทรวงศึกษาการเป็นผู้จัดสรรงบประมาณโครงการอาหารกลางวันให้นักเรียนทุกสังกัด เริ่มดำเนินการตั้งแต่ในปี พ.ศ.2536 โดยอุดหนุนอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการ และนักเรียนที่ขาดแคลนอาหารกลางวัน ในอัตรา 5 บาทต่อคน จำนวน 200 วัน ด้วยวิธีการจัดสรร และโอนเงินงบประมาณผ่านสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ ไปยังโรงเรียน ต่อมาในปี พ.ศ.2544 รัฐบาลได้ถ่ายโอนภารกิจโครงการอาหารกลางวัน จากสำนักงานปลัดกระทรวง ศึกษาธิการให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้จัดสรร งบประมาณเงินอุดหนุนอาหารกลางวันให้กับเด็กเล็กและชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ในศึกษาสังกัด สพฐ. อปท. ตชด. กศน. (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบนพื้นที่ราบสูง) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (ศูนย์เลี้ยงเด็ก) และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ที่ อปท. จัดตั้งและรับถ่ายโอน) ยกเว้นการอุดหนุนโครงการอาหารกลางวัน สำหรับนักเรียนในโรงเรียนเอกชนยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการโดยไม่ได้อยู่ในแผนการถ่ายโอนภารกิจ
เมื่อปี 2552 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้นักเรียนทุกคน (เด็กเล็ก เด็กอนุบาล – ป.6 ได้รับอาหาร กลางวัน 100% อัตรา 13 บาท/คน/วัน ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยมีเหตุผล คือ การจัดสรร งบประมาณอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนทุพโภชนาการ และยากจน 60% ของจำนวนเด็ก ทำให้ผู้ปกครองอีก 40% ต้องมีภาระค่าใช้จ่าย จึงให้ความช่วยเหลือเด็กให้มีอาหารกลางวันรับประทานทุกคน เพื่อลดค่าใช้จ่ายของ ผู้ปกครอง จึงทำให้นักเรียนทุกสังกัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัดสรรงบประมาณได้รับการอุดหนุนอาหาร กลางวัน 100% ยกเว้นนักเรียนเอกชนที่ยังได้รับการอุดหนุนเฉพาะนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการและนักเรียนที่ขาดแคลนตามเดิม
ในห้วงเวลาที่ผ่านมารัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้การส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาเอกชน ดังต่อไปนี้
1. ปรับอัตราเงินค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 – 2569 (มติคณะรัฐมนตรี 26 กรกฎาคม 2565) ครอบคลุมนักเรียน โรงเรียนเอกชนในระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 1,974,774 คน โดยจะมีการปรับเพิ่ม ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบ ค่ากิจกรรม พัฒนาคุณภาพผู้เรียน และปรับอัตราเงินอุดหนุนสำหรับนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชน มติคณะรัฐมนตรี 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565) ครอบคลุมนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาและประเภทอาชีวศึกษา จำนวน 4,762คน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียน และช่วยเพิ่มศักยภาพของสถานศึกษาในการจัด และพัฒนาคุณภาพการศึกษา
2. ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนระดับชั้นเด็กเล็กถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในอัตรา ตามขนาดของโรงเรียน (มติคณะรัฐมนตรี 8 พฤศจิกายน 2565) โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนการใช้ งบประมาณเพื่อดำเนินการ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และดำเนินการขอตั้งงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เป็นต้นไป ครอบคลุมถึงนักเรียนโรงเรียนเอกชน จำนวน 517,749 คน ใน 1,782 โรงเรียน โดยมีแนวทางการดำเนินงานอุดหนุนอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนโรงเรียนเอกชนของกระทรวงศึกษาธิการ สําหรับการอุดหนุนอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนเอกชนทุกคน เพื่อให้เด็กไทยได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ตามรัฐธรรมนูญอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันเช่นเดียวกับนักเรียนของรัฐและท้องถิ่น และเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมการศึกษานอกระบบการศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษาเอกชนในคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ซึ่งได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณา ศึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการอาหารกลางวันของโรงเรียนในสังกัด สช. ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทน สช. ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนจากโรงเรียนเอกชน ดำเนินการจัดหารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่องข้อเสนอแนะเชิงนโยบายความต้องการจ่าเป็นพื้นฐานของนักเรียนโรงเรียนเอกชนในการขอรับเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการนำผลการศึกษาฯ ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา และอนุกรรมาธิการฯ มาพิจารณาเสนอคณะกรรมการส่งเสริมาการศึกษาเอกชน (กช.) พิจารณาแนวทางการอุดหนุนอาหารกลางวัน ให้แก่นักเรียนโรงเรียนเอกชน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแนวทางอุดหนุนอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนโรงเรียนเอกชนทุกคนเช่นเดียวกับนักเรียนของรัฐและท้องถิ่นความเสมอภาคและลดความเหลี่ยมต่อไป
ขอบคุณภาพ : รัฐสภา
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
26/1/2566