รมช.ศธ. คุณหญิงกัลยา เปิด “โครงการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการบริหารการศึกษาของประเทศไทย”

เมื่อวันอังคารที่ 15 สิงหาคม 2566 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการบริหารการศึกษาของประเทศไทย ในระดับภูมิภาค โดยมี นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้บริหารระดับสูง ศธ., ศึกษาธิการภาค 1-18 และศึกษาธิการจังหวัด 77 แห่ง เข้าร่วมกว่า 320 คน ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

รมช.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการบริหารจัดการศึกษาตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ภายในปี 2570 ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม มีทักษะที่จำเป็น พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต และปรับตัวสอดคล้องกับวิถีชีวิตโลกยุคใหม่” ซึ่งการที่จะทำให้ภารกิจดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จตามภารกิจได้นั้น เกิดจากความเข้มแข็ง และการบูรณาการทำงานของหน่วยงานปฏิบัติทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาภารกิจด้านการศึกษา ให้สามารถเข้าถึงผู้เรียนได้โดยตรง

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. ในภูมิภาค ใช้กลไกการบริหารและการจัดการศึกษาผ่านสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 18 แห่ง และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) 77 แห่ง โดยเป็นหน่วยงานหลักที่เชื่อมโยงกับการทำงานของหน่วยงานการศึกษาในระดับพื้นที่ เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ถือเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการและมีส่วนร่วม สอดประสานการทำงานร่วมกันในเชิงระบบแบบสร้างสรรค์ในพื้นที่ทั้งระดับภาคและระดับจังหวัด โดยใช้กลไกคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) โดยมุ่งเน้นเป้าหมาย “คุณภาพผู้เรียน” เป็นหลัก บูรณาการการเรียนการสอนแบบ Active Learning และการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนแต่ละด้านอาจแตกต่างกันได้ตามสภาพแต่ละพื้นที่ อาทิเช่น เด็กถนัดกีฬา ก็ส่งเสริมเรื่องกีฬา, ถนัดศิลปะ ก็เน้นส่งเสริมศิลปะ ซึ่งไม่เน้นแต่ด้านวิชาการให้เด็กอย่างเดียวอีกต่อไป

ทั้งนี้ ขอให้ศึกษาธิการภาค และศึกษาธิการจังหวัด นำระบบดิจิทัลต่าง ๆ เข้ามาปรับใช้ในหน่วยงานให้มีระบบบริหารจัดการที่คล่องตัว มีประสิทธิภาพ บูรณาการทำงานร่วมกันอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ในการจัดทำนโยบาย แผน มาตรฐานและการติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาที่หน่วยปฏิบัติสามารถนำไปบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และฐานข้อมูล เป็นสิ่งที่สำคัญมาก สามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลส่วนกลาง และอื่น ๆ ได้อย่างดี รวมถึงเว็บไซต์หลักของหน่วยงานต้องทันสมัย น่าเชื่อถือ ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลของหน่วยงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

ตลอดจน ฝากศึกษาธิการภาค และศึกษาธิการจังหวัด ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ 4 อย่าง คือ 1. เรียนให้สนุก เพราะฉะนั้นการสอนต้องสนุก ระหว่างเรียนมีรายได้ (ทำอย่างไรจึงจะเกิดรายได้) 2. เรียนจบมีงานทำ 3. เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทันสมัย แข่งขันได้ 4. มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเป็นหน่วยงานหลักที่ช่วยขับเคลื่อนในโรงเรียนและสถานศึกษาของภูมิภาค เพราะการศึกษาคือความมั่นคงของชีวิต ของครอบครัว และที่สำคัญการศึกษาคือความมั่นคงของประเทศชาติ

“ขอขอบคุณผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติทุกระดับที่ได้จัดการประชุมในครั้งนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะได้ทบทวน ปรับปรุง ออกแบบแผนการดำเนินงาน กลไก เทคนิค รูปแบบการบริหารจัดการศึกษา รวมทั้งเตรียมการขับเคลื่อนชุดโครงการสำคัญในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ตอบสนองต่อเป้าหมายของชาติและแผนพัฒนาพื้นที่ภายใต้บริบทของแต่ละพื้นที่ เป็นการสร้างแรงกระตุ้นในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษา ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพในทุกมิติ นำพาประเทศไปสู่อนาคตที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนต่อไป” คุณหญิงกัลยา กล่าว

ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ

ศิจิตรา ทรงเจริญ, นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง

สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟิก

ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน

16/8/2566

[Sassy_Social_Share]