รมช.ศธ. “คุณหญิงโค้ดดิ้ง” เปิดงานเผยแพร่องค์ความรู้-ผลงาน Coding ดีเด่น ภาคเหนือ ส่งท้ายถึงผู้บริหารจัดหา Smart Devices ให้ยืมเรียน ประเดิมในกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษา สร้างทักษะอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2565 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการเผยแพร่องค์ความรู้และแสดงผลงานดีเด่นด้าน Coding “CODING Achievement Awards” ภาคเหนือ ณ โรงเรียนวัดเวฬุวัน (สารภีชนานุกูล) จังหวัดเชียงใหม่

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในโลกปัจจุบันต่อเนื่องไปถึงอนาคต มีความต้องการพลเมืองที่มีความสามารถพัฒนาทักษะ เพื่อการดำรงชีวิตได้ สามารถเอาตัวรอดและดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่จุดหมายนั้นคือการศึกษา Coding การพัฒนาการศึกษาด้วย STI STEAM Education ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญและขับเคลื่อนมาตลอด เพื่อให้เด็กทุกคนได้เรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานผ่านโครงการวิทยศาสตร์พลังสิบ รวมถึงพัฒนาไปสู่อาชีพด้วยโครงการอัจฉริยะเกษตรประณีต

ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครองที่จะต้องช่วยชี้แนะ เอื้ออำนวยความสะดวก และช่วยออกแบบการวางแผนอนาคตให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต รวมทั้งต้องได้รับการพัฒนา Coding สำหรับการดำรงชีวิต และการปฏิบัติงานคู่ขนานกันไปด้วย ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นภาพครูผู้สอนที่ได้ตั้งใจพัฒนาตนเองในการจัดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพจนเกิดผลลัพธ์ต่อผู้เรียน ให้เกิดสมรรถนะการคิดขั้นสูง และได้รับการยอมรับว่ามีแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการเรียนรู้ Coding เป็นที่ประจักษ์

“ขอฝากผู้บริหารระดับภาค/จังหวัด/เขตพื้นที่การศึกษาทุกท่านให้ประชาสัมพันธ์ไปยังโรงเรียนในความรับผิดชอบ ดำเนินการการจัดหา Smart Devices ให้นักเรียนได้ยืมเรียนในกลุ่มนักเรียนมัธยมก่อนเป็นอันดับแรก โดยหวังว่าความตั้งใจอันดีของทุกคนวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ขยายผลไปสู่การนำวิธีการจัดการเรียนรู้ และองค์ความรู้นั้นไปประยุกต์ เพื่อให้สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนรู้ Coding ได้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21” คุณหญิงกัลยากล่าว
สำหรับการแสดงผลงานดีเด่นด้าน Coding ” CODING Achievement Awards” ภาคเหนือ มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ส่งผลงานเข้าร่วม จำนวน 59 เขตพื้นที่การศึกษา รวมจำนวน 93 ผลงาน ซึ่งผลการคัดเลือกผลงานดีเด่น ด้าน Coding มีครูได้รับโล่รางวัล จำนวน 38 ผลงาน ผู้เข้าร่วมงาน ได้แก่ คณะทำงานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะทำงานสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้บริหารการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ศึกษานิเทศก์และบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือรวมกว่า 300 คน
[Sassy_Social_Share]