รมว.ตรีนุช ตรวจเยี่ยมความพร้อมก่อนเปิดเทอม ปีการศึกษา 2566 ณ โรงเรียนศรีอยุธยาฯ – โรงเรียนพญาไท ย้ำความพร้อมทุกด้าน
วันนี้ (27 เมษายน 2566) เวลา 9.00 น. นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 ของโรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ และโรงเรียนพญาไท กรุงเทพฯ โดยมีนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ผู้บริหาร สพฐ. และคณะผู้บริหาร บุคลากรครู นักเรียน เข้าร่วม
รมว.ศธ. กล่าวตอนหนึ่งว่า การตรวจเยี่ยมโรงเรียนในครั้งนี้ เป็นการตรวจเยี่ยมความพร้อมของการเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคมที่จะมาถึง จากการเยี่ยมชมการนำเสนอ VTR “การเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566” และการเรียนการสอนปรับพื้นฐานทั้งสองโรงเรียนพบว่า โรงเรียนทั้งสองแห่งมีความพร้อมในการเปิดการเรียนการสอน ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ที่จะมาถึง โดยทางกระทรวงศึกษาธิการได้ฝากให้บุคลากรครูประจำโรงเรียนทุกแห่ง ดูแลเรื่องอาคารสถานศึกษาให้มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมแก่การเรียน ปลูกฝังการเรียนแบบ Active Learning ให้ผู้เรียนมีทักษะทางด้านการคิด มีการบูรณาการการเรียนการสอนให้ทันต่อยุคสมัย จากช่วงปิดภาคเรียนที่ผ่านมา อาจจะมีนักเรียนบางกลุ่มตกหล่นไปจากระบบการศึกษา (Learning Loss) จึงขอฝากฝังให้ทางโรงเรียนช่วยตรวจสอบอัตราการตกหล่นของนักเรียน และนำนักเรียนกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสายสามัญ หรือสายอาชีพ ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพของนักเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการป้องกันภัยจากโรคระบาดโควิด 19 และฝุ่น PM 2.5 รวมถึงการควบคุมการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงฤดูร้อน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบาย 1 โรงเรียน 1 ครูอนามัย เพื่อดูแลความปลอดภัยของเด็กเบื้องต้นได้ทันเวลา นอกจากการศึกษาสายสามัญ กระทรวงศึกษาธิการยังมีการศึกษารูปแบบอื่น อาทิ อาชีวศึกษา หรือ การศึกษานอกระบบ (กศน.) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียน ทั้งยังเป็นการเรียนรู้แบบส่งเสริมทักษะทางอาชีพ
“ขอเน้นย้ำให้โรงเรียนสื่อสารกับผู้ปกครองและนักเรียน ได้รับรู้ถึงการจัดสรรค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ทางโรงเรียนจะต้องจัดสรรให้กับนักเรียน ตรงตามวัตถุประสงค์ของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในส่วนของค่าอุปกรณ์การเรียนและค่าเครื่องแบบนักเรียน พร้อมย้ำถึงความปลอดภัยในสถานศึกษา ตั้งแต่อาคารสถานที่ สภาวะแวดล้อม การจัดการเรียนการสอน ไปจนถึงด้านสุขอนามัยตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองในช่วงเปิดภาคเรียนที่จะถึงนี้ ในปีที่ผ่านมา ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันตามขนาดของโรงเรียน ขอให้เขตพื้นที่การศึกษาตรวจตราการจัดอาหารกลางวันโดยเน้นย้ำเรื่องโภชนาการที่เหมาะสมสอดรับกับวัยของเด็ก และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กนักเรียน” รมว.ศธ.กล่าวในตอนท้าย
ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ทางโรงเรียนเชื่อมั่นว่าจะจัดส่งหนังสือให้เด็กนักเรียนได้ทันเปิดเทอม เพราะโรงเรียนในสังกัดได้มีการวางแผนเตรียมการไว้แล้ว ส่วนกรณีหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ชุด “ภาษาเพื่อชีวิต ภาษาพาที ชั้น ป.5” ที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในส่วนของเนื้อหานั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจ และมองว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาเนื้อหาและหลักสูตร ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการทบทวนเพื่อปรับเนื้อหา ให้เป็นไปตามกาลเวลาและเหมาะสมกับยุคสมัย แม้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือส่งเสริมการอ่าน ที่แฝงเรื่องหลักการใช้ภาษาอยู่ ก็ขอฝากฝังให้ครูผู้สอน ใช้วิจารณญาณในการสอน และเชื่อว่าผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะสื่อสารไปอย่างที่เข้าใจกัน
สุวิชา บุญญานุพงศ์: สรุป/กราฟิก
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ขอบคุณภาพ: กลุ่มสารนิเทศ สป.
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
27/4/2566