ลก.รมว.พิมพ์พร เปิดมหกรรมหุ่นยนต์อาชีวศึกษา VEC Robot Contest
วานนี้ (วันที่ 17 มิถุนายน 2568) นางสาวพิมพ์พร ชีวานันท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดงานมหกรรมหุ่นยนต์อาชีวศึกษา การแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา ระดับชาติชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ประจำปีพุทธศักราช 2568 โดยมี นายสง่า แต่เชื้อสาย รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บริหารระดับสูง บุคลากรทางการศึกษา และนักศึกษา เข้าร่วม ณ ลานกิจกรรมชั้น 2 ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
ลก.รมว.ศธ. กล่าวว่า มหกรรมหุ่นยนต์อาชีวศึกษา การแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา ระดับชาติชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ประจำปีพุทธศักราช 2568 ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในครั้งนี้ ขอแสดงความชื่นชม ที่ได้เห็นเยาวชนอาชีวศึกษาให้ความสนใจเรื่องของการศึกษาหาความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมหุ่นยนต์ซึ่งเป็นตัวชี้วัดของการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่แสดงถึงขีดความสามารถที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในระดับสากล ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยี จากหลากหลายสาขาวิชาชีพ มาพัฒนาและประดิษฐ์ คิดค้น นวัตกรรมหุ่นยนต์ไทยที่เหมาะสม มาใช้ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง
โครงการภายใต้ กิจกรรมแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา นับเป็นโครงการที่ความสำคัญมาก ที่มีส่วน ช่วยกระตุ้นให้เยาวชนทั้งหลายเกิดแรงบันดาลใจ ในการพัฒนาหุ่นยนต์ไทยให้ไปสู่การใช้งานได้ผลจริง ทั้งในงาน ด้านภาคอุตสาหกรรม งานอำนวยความสะดวกในบ้านสำนักงาน งานด้านการแพทย์หรือแม้กระทั้งหุ่นยนต์กู้ภัย ที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ นอกจากนั้นโครงการนี้ ยังมีส่วนในการส่งเสริมนักศึกษารุ่นใหม่ หันมาสนใจศาสตร์ด้านนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม การคิดอย่างสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ สร้างความสามัคคี จึงสมควรอย่างยิ่งที่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐจะต้องให้การสนับสนุน ส่งเสริม เยาวชนของชาติ ในการประดิษฐ์ คิดค้น และพัฒนาหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นผมยังอยากเห็นเยาวชนทั้งหลายทั้งที่อยู่ในที่นี้ และในสถานศึกษามีความฝันอยากจะคิดค้น และพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ไฮเทคโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หุ่นยนต์” ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ประเทศพัฒนาแล้ว ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในขณะที่ประเทศทั่วโลกต่างพา กันพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ประเทศไทยเราเองก็ติดตามเกาะติดแวดวงเทคโนโลยีการผลิตหุ่นยนต์กับเวทีนานาชาติด้วย เช่นกัน จะเห็นได้ว่าเยาวชนไทยสามารถชนะการแข่งขันในระดับนานาชาติมาแล้วหลายรายการ การแข่งขันหุ่นยนต์ใน บ้านเราในปัจจุบัน มักจะมุ่งเน้นไปในการนำไปใช้งานจริง เพื่อแก้ปัญหางานในภาคอุตสาหกรรมและตอบโจทย์ต่อสังคมนอกจากนี้ยังเน้นเรื่องลักษณะความสนุกควบคู่กับการเรียนรู้ในเกมการแข่งขันด้วย
ดังนั้น จึงขอให้สถานศึกษา สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้ความสำคัญ ในการส่งเสริม นักศึกษา ให้รู้จักและสนใจในวิทยาการด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้มากขึ้น มุ่งมั่นพัฒนากำลังคนด้าน หุ่นยนต์ในประเทศ ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้จริง ทั้งในภาคการผลิตภาคบริการ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาวิทยาการด้านหุ่นยนต์ให้มากยิ่งขึ้น ตามนโยบาย Thailand 4.0
ทั้งนี้ ลก.รมว.ศธ. ยังได้ไปลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและเยี่ยมมการจัดการเรียนการสอน ณ โรงเรียนธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี อีกด้วย
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว : สรุป/ถ่ายภาพ/กราฟิก
นวรัตน์ รามสูต : เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร. : รายงาน
17/06/2568
#VECRobot #อาชีวศึกษา
#เรียนดีมีความสุข
#ฉลาดรู้ฉลาดคิดฉลาดทำ
#ศธ #การศึกษา
#จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน