ครูกัลยา มอบนโยบายคณะกรรมการสภาการศึกษาชุดใหม่ พร้อมตั้ง 9 คณะอนุกรรมการฯ สานต่อภารกิจชี้ทิศการศึกษาประเทศ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม 2565 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ หารือ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ควบคู่กับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Web Conference (WebEx Meeting)
รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา จำนวน 28 ราย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่งอีก 10 ราย และเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งสิ้น 40 ราย เพื่อสานต่อการกำหนดนโยบายและชี้ทิศทางการศึกษาในการสร้างผู้เรียนสำหรับโลกยุคปัจจุบันและอนาคต พร้อมมอบนโยบายการศึกษา “เด็กทุกคนต้องเรียนโค้ดดิ้ง” และมีกระบวนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science/Technology/Innovation : STI) โดยคาดหวังให้กรรมการชุดใหม่ เป็นกำลังสำคัญในการปฏิบัติภารกิจด้านการศึกษา ที่ช่วยขับเคลื่อนภารกิจของ ศธ. ให้สำเร็จลุล่วง เตรียมพร้อมให้เด็กไทยเรียนอย่างมีความสุข รับมือกับสภาวการณ์ที่ผันผัวน (VUCA World) และมีความสามารถแข่งขันทัดเทียมกันนานาชาติได้
คณะกรรมการชุดดังกล่าว เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาจำนวน 9 คณะ ประกอบด้วย
1) ด้านอำนวยการและประชาสัมพันธ์
2) ด้านนโยบายและแผนการศึกษา
3) ด้านการประเมินผลการจัดการศึกษา
4) ด้านกฎหมาย
5) ด้านมาตรฐานการศึกษา
6) ด้านเครือข่ายการมีส่วนร่วม
7) ด้านการวิจัย เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมด้านการศึกษา ทั้งนี้ ที่ประชุมเสนอแต่งตั้งคณะที่
8)ด้านคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสาและสำนึกสาธารณะ ผลักดันให้ผู้เรียนมีการแสดงออกอย่างเหมาะสม มีระเบียบวินัย เพื่อหลอมรวมให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์และเติบโตเป็นกำลังคนของประเทศที่มีประสิทธิภาพ
9) ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษาพิเศษ
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบรายงานสภาวการณ์ศึกษาไทย ปี 2565 ซึ่งรายงานดังกล่าวจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายฟื้นฟูการเรียนรู้ของผู้เรียนที่สูญเสียไปจากสถานการณ์โควิด-19 และกำหนดแนวทางมาตรการในการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ผู้เรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้เข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น และรับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการสภาการศึกษาปี พ.ศ.2560-2564 อาทิ การขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2561 ผลการจัดอันดับ IMD 2022 ขยันขึ้น 3 อันดับ จากอันดับ 56 การจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้เป็น “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” และการขออนุมัติเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวแก่ผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบบขั้นบันไดอย่างต่อเนื่อง 4 ปี (พ.ศ. 2565-2569) 4 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าเครื่องแบบ เป็นต้น
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
[Sassy_Social_Share]