ครูกัลยา เปิดเวทีโชว์ไอเดียอัปเกรด “โรงเรียนขนาดเล็ก” สู่ “โรงเรียนนวัตกรรม” ตอบโจทย์ SDGs4
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2566 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมติดตามสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 4 และพิจารณาร่างรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (VNR/VLR) เป้าหมายที่ 4 โดยมี นายสวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมด้วย นายปานเทพ ลาภเกษร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ คุณรุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการโครงการ ACCESS School สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนา (SDG Move) ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ครู ผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ.
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การศึกษาโลกมีเป้าหมายให้ เรียนอย่างสนุก ระหว่างเรียนมีรายได้ จบแล้วมีงานทำมีอาชีพเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญหน้า VUCA World ที่มีความเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลาจึงต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทยมีทักษะแห่งอนาคต สามารถคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล แก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน โดยการเรียน Coding / Unplugged Coding รวมถึง STI (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม) เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ เรียนอย่างสนุกมีความสุข ยึดโยงกับสะเต็มศึกษา (STEM: วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics))
ซึ่งได้เพิ่มวิชาชีวิต (Art of Life) รวมถึงการอ่านและเขียนที่ดีขึ้น ภายใต้แนวทาง Coding for All, All for Coding ขยายผลขับเคลื่อนทุกภาคส่วนเพื่อกระจายการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพและทุกช่วงวัย โดยคาดหวังให้เด็กนักเรียนสามารถเติบโตงอกงามมีคุณภาพตามศักยภาพของตนเองได้อย่างมีความสุข
ที่ประชุมร่วมรับฟัง “(ร่าง) รายงานการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary Nation Review: VNR) เป้าหมายที่ 4 รายงาน ระดับท้องถิ่น (Voluntary Local Reviews: VLR) กรณีศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก นวัตกรรมการจัดการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำตลอดชีวิตเพื่อเด็กและชุมชน” โดย ผู้ประสานงานโครงการ ACCESS School (นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย)
และผู้แทนโรงเรียนขนาดเล็ก 3 ภูมิภาค เปิดโมเดลโรงเรียนที่สามารถใช้นวัตกรรมต้นแบบมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและบริหารจัดการแก้ไขโรงเรียนขนาดเล็ก ใน 3 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ (โรงเรียนบ้านชมพู จ.น่าน) ภาคกลาง (โรงเรียนวัดโคกทอง จ.ราชบุรี) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (โรงเรียนหนองบัวชุม จ.กาฬสินธุ์) โดยนำ 3 นวัตกรรมการศึกษาที่เป็นการเรียนการสอนแบบ Active Learning บนฐานสมรรถนะที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ได้แก่
1) นวัตกรรมจากต้นแบบนำมาบูรณาการใช้กับบริบทของตน ประกอบด้วย นวัตกรรมโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และนวัตกรรมสอนคิด
2) นวัตกรรมการจัดการศึกษาบนฐานชุมชน (Community Based Education)
3) นวัตกรรมตามนโยบายของต้นสังกัด (DLTV) เพื่อก้าวสู่ “โรงเรียนนวัตกรรม (Innovation School)” ภายใต้นิยาม โรงเรียนคุณภาพของชุมชน เข้าถึงง่าย ใกล้บ้าน ประหยัด และปลอดภัย เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาครูไม่เพียงพอรวมถึงงบประมาณมีจำกัด แต่สามารถพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพสู่ความยั่งยืนบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ชุมชน และผู้เรียน จะนำไปสู่การบรรลุผลสำเร็จทางการศึกษาตามยุทธศาสตร์การศึกษาชาติ และ SDGs4 รวมไปถึงตอบโจทย์เป้าหมายการบริหารจัดการโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพผ่านการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน อาทิ ความร่วมมือระหว่างชุมชน โรงเรียน ภาคีภาคประชาชน และหน่วยงานท้องถิ่น และขยายผลรูปแบบการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กไปสู่พื้นที่อื่นได้ต่อไป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: ถ่ายภาพ
ขอบคุณข้อมูลจากประชาสัมพันธ์ สกศ.
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
31/3/2566