ครูพี่เอ ชู “รร.วัดบ้านปลัดปุ๊ก”ตัวอย่างการพัฒนาก้าวกระโดด จากโรงเรียนขยายโอกาส ทลายข้อจำกัดสู่โรงเรียนคุณภาพ โอเน็ตสูงล้ำหน้าค่าเฉลี่ยระดับชาติ
ครูพี่เอ ชู “รร.วัดบ้านปลัดปุ๊ก”ตัวอย่างการพัฒนาก้าวกระโดด จากโรงเรียนขยายโอกาส ทลายข้อจำกัดสู่โรงเรียนคุณภาพ โอเน็ตสูงล้ำหน้าค่าเฉลี่ยระดับชาติ
วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2567) เวลา 13.00 น. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊ก จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ผู้บริหาร ศธ. และบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วม
รมช.ศธ. กล่าวว่า โรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊ก ถือเป็นตัวอย่างพลังความร่วมมือของพื้นที่ ทำให้โรงเรียนที่มีผลการประเมินคุณภาพภายนอก ในระดับ “ปรับปรุง” ในปี 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) จนสามารถยกระดับสู่ผลการประเมินฯ ระดับ “ดีมาก” ในปี 2567 โดยมีศูนย์ประสานงาน สมศ. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเป็นพี่เลี้ยง ร่วมกับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1 ผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนฯ
ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” ที่มีความต้องการลดภาระครู บุคลากร นักเรียน ตลอดจนผู้ปกครอง และมีความตั้งใจที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา – สร้างโอกาสที่ดีให้กับผู้เรียนทุกคน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและชนบท มีปัญหาขาดแคลนทั้งงบประมาณ บุคลากร และทรัพยากรต่าง ๆ ดังนั้น จึงได้มอบนโยบายให้ สมศ. เร่งดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกกลุ่มโรงเรียนดังกล่าว เพื่อช่วยสะท้อนสภาพที่เป็นจริงของโรงเรียน ทำให้ทราบจุดเด่น จุดที่ควรปรับปรุง นำไปปรับใช้และติดตามผลอย่างใกล้ชิด
“เห็นได้ชัดเจนว่า ความร่วมมือในการเป็นพี่เลี้ยงของทุกภาคส่วน ภายใต้โครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้ของ สมศ. มาพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วม ในรูปแบบ PALADPUK MODEL (ปลัดปุ๊กโมเดล) “5 ร่วม” ได้แก่ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติร่วมประเมินผล และร่วมชื่นชม ทำให้โรงเรียนได้รับองค์ความรู้ แนวทางในการนำข้อเสนอแนะ ไปสู่การปรับปรุงพัฒนาโรงเรียนและผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถกำหนดเป้าหมายและแผนปฏิบัติการได้อย่าง ชัดเจน และวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม
ส่งผลให้การประเมินคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ 2567 โรงเรียนมีผลการประกันคุณภาพภายนอก ทั้งการศึกษาปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดอยู่ในเกณฑ์ “ดีมาก” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ทั้งยังมีผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ทั้งด้านตัวผู้เรียน สถานศึกษา และผู้บริหาร เห็นได้จากผลการทดสอบ O-NET สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะวิชาภาษาไทย ชั้น ป.6 และวิชาวิทยาศาสตร์ชั้น ม.3 ที่สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ จากเดิมที่เคยได้คะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ
ทั้งนี้ โรงเรียนยังได้นำ PALADPUK MODEL มาจัดทำเป็น Best Practice เพื่อเผยแพร่และแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปยังโรงเรียนอื่นๆโดยมีโรงเรียนที่นำไปประยุกต์ใช้ ได้แก่ โรงเรียนวัดบ้านกะหาด โรงเรียนวัดบ้านกะชาย โรงเรียนบ้านตะโกตาเนตร ซึ่งช่วยเพิ่มสมรรถนะผู้เรียนอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
ขอย้ำว่า เราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนขยายโอกาสก็ต้องให้ความสำคัญ เพราะกลุ่มโรงเรียนดังกล่าว แม้ส่วนใหญ่จะอยู่ในท้องถิ่นที่ห่างไกลและทุรกันดาร แต่ก็มีจุดเด่นอยู่ที่ความใกล้ชิดกับชุมชน ทำให้สามารถเข้าใจบริบทและความต้องการของผู้เรียนได้อย่างลึกซึ้งและสามารถปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ และที่สำคัญคือเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน หากทุกฝ่ายช่วยกัน ดูแลพัฒนาโรงเรียน ทำงานร่วมกันตามแนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ไม่ว่าจะเรียนที่ไหน เด็กก็จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย” รมช.ศธ.กล่าว
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 มีโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้รับการประกันคุณภาพภายนอก จำนวน 3,020 แห่ง ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่กว่า 99% มีการนำผลการประเมินไปใช้พัฒนาการศึกษา นอกจากนี้ ในปี 2567 ถือเป็นอีกหนึ่งปี ที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอก ผู้ประเมินภายนอก และส่วนของโรงเรียนเองที่รับการประเมินแล้ว ก้าวสู่ทิศทางที่ดีขึ้น
ในโอกาสนี้ รมช.ศธ.และคณะ ได้เยี่ยมชมกิจกรรมเรียนการสอนของโรงเรียนวัดบ้านปลัดปุ๊ก ด้วยการเริ่มต้นจากปัญหาด้านสุขภาพในช่องปากของนักเรียน เกิดเป็นการคิดค้นโครงงานการผลิตยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก และสเปรย์ดับกลิ่นปากจากใบข่อย ซึ่งเป็นพืชที่พบมากในบริเวณโรงเรียนและชุมชน มาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และได้รับเหรียญทองจากการประกวดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ครั้งที่ 71 ปีการศึกษา 2566 โดยโรงเรียนยังได้นำนโยบาย “สุขาดี มีความสุข” ไปปฏิบัติตามจนเกิดผลสำเร็จอีกด้วย
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/กราฟิก
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ฤทธิเกียรติ์ ยศประสงค์: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
14/11/2567