“คุณหญิงกัลยา” ชื่นชม สทศ. ครบรอบ 17 ปี ย้ำโจทย์ให้พัฒนาการวัดและประเมินผล 6 ทักษะจำเป็นที่เด็กไทยต้องมี
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดงานครบรอบ 17 ปี ของการจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้แนวคิด “คลื่นความท้าทายใหม่การวัดและประเมินผลทางการศึกษา: บริบทโลกบริบทไทย” (Challenges of Educational Measurement and Evaluation: World and Thailand) และมอบโล่รางวัลแก่สถานศึกษาและหน่วยงานที่มีพัฒนาการผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบโรงเรียน (N-NET) การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านพระพุทธศาสนา (B-NET) การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอิสลามศึกษา (I-NET) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (V-NET) โดยมี ผศ.ศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการ สทศ. นายกิตติรัตน์ มังคละคีรี ประธานกรรมการ สทศ. และผู้บริหารสถานศึกษา ร่วมให้การต้อนรับ ณ โรงแรม เซ็นจูรี่ ปาร์ค กรุงเทพฯ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอชื่นชมและยินดีกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ในโอกาสครบรอบ 17 ปีที่ก่อตั้งมา และร่วมกันทำงานกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างคน ทำให้เด็กไทยและคนไทยมีความรู้มีภูมิคุ้มกันในการเตรียมตัวเผชิญกับโลกใหม่ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด VUCA World ที่ประกอบด้วย ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity) โลกต้องการคนที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่และพร้อมจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสร้างสรรค์ ต้องเป็นผู้มีความรู้มากกว่าหนึ่งอย่าง ต้องมีการบูรณาการความรู้เพื่อนำมาประกอบอาชีพ ทักษะใหม่ที่เด็กไทยและคนไทยจำเป็นต้องมีคือ Coding เป็นทักษะพื้นฐานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง Coding For All ใช้ตรรกะ คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา ในรูปแบบ Unplugged Coding ไม่ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ทุกคนทำได้อย่างเท่าเทียม เป็นกระบวนการคิดเพื่อสร้างทักษะ 6 ทักษะที่จำเป็นให้แก่เด็กไทย ได้แก่ 1) ทักษะการอ่าน 2) ทักษะการเขียน 3) ทักษะการคิดแบบมีเหตุผล 4) ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ 5) ทักษะการคิดเชิงคำนวณ และ 6) ทักษะการแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งของฝากให้ สทศ. นำไปคิดต่อว่าจะทำการวัดผลและประเมินผลทักษะทั้ง 6 นี้อย่างไร เพื่อร่วมกันพัฒนาเด็กไทยต่อไป
การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการเปลี่ยน STEM เป็น STEAM สร้างมิติใหม่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ผสานศาสตร์และศิลป์ ขยายโอกาสให้เด็กไทยได้เรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างกว้างขวาง เน้นการเรียนการสอนในเชิงปฏิบัติเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน STI ประกอบด้วย Science Technology และ Innovation พร้อมด้วย STEAM เน้นที่ A ได้แก่ Art of Life, Art of Living, และ Art of Working Together ขอให้ทุกสถานศึกษาใส่ A ลงไปในการเรียนการสอน ฝากนักการศึกษาและนักวิจัยช่วยกันทำให้คนไทยมีอาชีพไปพร้อมกับมีความสุข รมช.ศธ. กล่าว
หลังจากนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการทำพิธีเปิดการใช้งานระบบการการทดสอบออนไลน์เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน ซึ่ง สทศ. ได้พัฒนาระบบการทดสอบออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนหรือผู้สนใจเข้ามาทำการทดสอบความรู้ ทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา เพื่อจะได้ทราบจุดเด่นหรือจุดที่ควรพัฒนา เพื่อวางแผนการเรียนในอนาคต ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาบนแอปพลิเคชันที่รองรับการแสดงผลบนหน้าจอบนอุปกรณ์ที่แตกต่างกัน (responsive web) และหลากหลาย ทั้งคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก แท็บแล็ตและสมาร์ตโฟน
ในช่วงสุดท้ายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเยี่ยมชมบูธนิทรรศการของโรงเรียนที่มีพัฒนาการผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับยอดเยี่ยม
ผู้อำนวยการ สทศ. กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้เพื่อสร้างการ)รับรู้และเข้าใจการปฏิบัติงานและผลงานที่ผ่านมาของ สทศ. สร้างความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันของโลกและของไทย และการรับรู้และร่วมดำเนินการการวัดและประเมินผลทางการศึกษาที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล แผนยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และนโยบายของคณะกรรมการ สทศ. ซึ่งที่ผ่านมา สทศ.ดำเนินงานเรื่องการสอบ สร้างข้อสอบ รูปแบบการสอบ ที่เพิ่มการสอบแบบระบบดิจิทัลมากขึ้น ศูนย์สอบ สนามสอบ ที่ขยายครอบคลุมทั่วประเทศ พื้นที่ห่างไกล และรายงานผลการทดสอบ สนองความต้องการของผู้รับบริการให้ครอบคลุม หลายกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มผู้ต้องการใช้ผลคะแนน เป็นต้น
[Sassy_Social_Share]