คุณหญิงกัลยา วางศิลาฤกษ์อาคารเรียนโรงเรียนม่วงสามสิบอัมพวันวิทยา

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2566 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ ประธานพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนโรงเรียนม่วงสามสิบอัมพวันวิทยา (อาคาร 49 ปี ศรีอัมพวัน) ณ โรงเรียนม่วงสามสิบอัมพวันวิทยา ตำบลม่วงสามสิบ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ในอนาคตจะดำเนินไปในทิศทางใด เป็นภารกิจของผู้ใหญ่ ที่จะต้องรีบสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกหลานของเรา ให้หันมาเรียนในสิ่งที่ไม่เคยเรียน รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ด้วยการลงมือทำอย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตั้งแต่ในบ้าน ออกไปถึงโรงเรียน สังคม และระดับประเทศชาติ นั่นก็คือ ภูมิคุ้มกันด้วยวิทยาศาสตร์ และ CODING ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของโลก เป็นต้นเหตุของ VUCA World ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเด็กไทยและคนไทยทุกคนต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันในแต่ละช่วงอายุจึงจะสามารถอยู่ในโลกของ VUCA World ได้อย่างมีประสิทธิภาพ “โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ” จึงเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาส่งเสริมศักยภาพ และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สร้างคนให้เกิดกระบวนการคิดและทันยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

“โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เป็นโครงการที่ดิฉันคิดขึ้นมาให้กับกระทรวงศึกษาธิการเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เป็นการเปิดเวทีทั้งประเทศให้เด็กทุกคนได้เรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับชีวิตแต่ละช่วงวัย รัฐบาลเห็นความสำคัญให้เงินมาหมื่นล้านบาทที่จะพัฒนาให้ทุกๆโรงเรียน นักเรียนทุกๆ คน ได้เรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมตั้งแต่ระดับประถมจนถึงชั้นมัธยม โดยขณะนี้เรามีโรงเรียนชั้นประถม 100 โรงเรียนที่ได้รับการอบรมเรียบร้อยแล้ว และมัธยมอีก 100 โรงเรียน ที่สมัครและได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนศูนย์ ดังนั้นปีหน้าจาก 100 โรงเรียนก็จะกลายเป็น 1,000 โรงเรียน และ 10,000 โรงเรียนต่อไป” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

สถานศึกษาและครูมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเตรียมผู้เรียนให้มีภูมิคุ้มกัน เรียนในสิ่งที่ชอบ และมีความสุข สิ่งสำคัญที่สุดคือ เน้นสมรรถนะ ไม่เน้นที่สาระอย่างเดียวเหมือนในอดีต เป้าหมายการจัดการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ จึงจะเน้นไปที่ 1.ให้เด็กต้องเรียนอย่างสนุกได้ลงมือทำ แก้ปัญหา ไม่ได้อยู่แต่ในห้องเรียน 2.ระหว่างเรียนมีรายได้ นำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ 3.เรียนจบแล้วมีงานทำ เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ทันสมัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีแข่งขันได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ทุกคนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีแข่งขันได้ เพื่อเป็นการเปิดโลกใบใหม่ และจุดประกายให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสาขาอาชีพในอนาคต ส่วนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล คือ การมีรูปแบบการเรียนรู้ มุ่งสู่ระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีด้านวิศวกรรม คณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ รวมทั้งใช้ระบบคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผลเชิงตรรกะ แก้ปัญหาเป็นขั้นตอนอย่างเป็นระบบ โดยวางเป้าหมายพัฒนาครูและหลักสูตรทางการศึกษา “เด็กเรียน Coding โดยการเล่น…ผู้ใหญ่เรียน Coding โดยการตั้งคำถาม” ส่งเสริมการใช้ตรรกะในการแก้ปัญหา สิ่งนี้ถือเป็นความคาดหวังที่กระทรวงศึกษาธิการอยากจะเห็นเด็กเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ อยู่ในสังคมที่มีคุณภาพสูงสุด

นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง

ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ

สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟิก

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน

3/3/2566

[Sassy_Social_Share]