“คุณ​หญิงโค้ดดิ้ง” เร่งเตรียมเด็กไทย-คนไทย พร้อมรับมือยุค VUCA World ในเวทีเสวนา “การศึกษาไทยภายใต้ VUCA World”

เมื่อวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ร่วมเสวนา หัวข้อ “การศึกษาไทยภายใต้ VUCA World” พร้อมด้วย นางสาวทัศนีย์ พิศาลรัตนคุณ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายดนุวัศ สาคริก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการสภาการศึกษา และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมการเสวนา ภายใน งาน “สร้างภูมิคุ้มกันด้วยวิทยาศาสตร์ และ CODING” ณ ลานกิจกรรมชั้น G (ใต้ลาน Skywalk) MBK Center

รมช.ศธ. กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ในอนาคตจะดำเนินไปในทิศทางใด เป็นภารกิจของผู้ใหญ่ ที่จะต้องรีบสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกหลานของเรา ให้หันมาเรียนในสิ่งที่ไม่เคยเรียน รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ด้วยการลงมือทำอย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตั้งแต่ในบ้าน ออกไปถึงโรงเรียน สังคม และระดับประเทศชาติ นั่นก็คือ ภูมิคุ้มกันด้วยวิทยาศาสตร์ และ CODING

หากพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจว่า การศึกษาคือความมั่นคง ก็จะเกิดโอกาสต่อเด็กขึ้นทันที เพราะบาดแผลที่ทุกคนเผชิญกับโควิด 19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน บางคนขาดอุปกรณ์การเรียน ความไม่พร้อมของระบบ ทำให้ทั้งผู้ปกครองและเด็กเกิดความเครียด ต้องอาศัยเวลาและความเข้าใจในการเยียวยา ส่วน ศธ. มีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมให้การจัดการศึกษาสอดรับกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็ต้องอาศัยระยะเวลาเช่นกัน จึงจะเห็นผล

“ในวันนี้ เราได้เห็นผลสำเร็จจากการนำวิทยาศาสตร์และ CODING มาประยุกต์ใช้กับการเรียน 8 สาระวิชา จนทำให้นักเรียนมีรายได้ระหว่าง เรียน มีอาชีพ มีความสุข ซึ่งก็นำไปสู่ความท้าทายใหม่ ว่าจะทำอย่างไรให้ทุกโรงเรียนในประเทศไทยสามารถนำ STI มาบูรณาการในมิติต่าง ๆ นอกเหนือจาก การเรียนตามตำรา เช่น นำความรู้ไปช่วยลดภาระครอบครัว การทำการเกษตร ซึ่งขณะนี้ ศธ.ได้ดำเนินการโครงการบริหารจัดการน้ำในชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ร่วมกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศ แล้ว เพื่อจัดหลักสูตรผลิตชลกร โดยร่วมบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานท้องถิ่น จับมือกันก้าวข้ามวิกฤต ลดความยากจน ไม่ให้เกิดน้ำท่วมหรือน้ำแล้งอีกต่อไป

และขอฝากถึงนักการศึกษา ให้ต่อยอด เติมเต็ม และเชื่อมโยงกับภาคเอกชน ขณะเดียวกัน ต้องมีการพูดคุยสื่อสารระหว่างผู้มอบนโยบายและผู้ปฏิบัติ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดย เชื่อว่าหาก ผู้อำนวยการโรงเรียนทุกคนเข้าใจตรงกันกับผู้กำหนดนโยบายแล้ว ก็จะสามารถขับเคลื่อนการศึกษา ไปสู่เป้าหมายการศึกษา โลกที่นักเรียน จะมีความสุข สร้างรายได้ ระหว่างเรียน มีอาชีพ” รมช.ศธ. กล่าว

นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง

ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ

สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟฟิก

ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน

26/2/2566

[Sassy_Social_Share]