“ตรีนุช” ชี้ พ.ร.บ.การศึกษาชาติฉบับใหม่ต้องมี “ศธจ.-ศธภ.” เป็นผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 เวลา 9.00 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลุ่มผู้แทนศึกษาธิการจังหวัด นำโดย นายณัทชัย ใจเย็น ศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรี และคณะ ได้เข้าพบ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เพื่อขอให้กระทรวงศึกษาธิการเสนอปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ฉบับ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ

โดย นางสาวตรีนุช กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งกลไกสำคัญหนึ่งคือ ต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว อาทิ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เป็นต้น เริ่มต้นโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาจนถึงปัจจุบันใช้เวลามามากกว่า 5 ปี มีการร่างและปรับแก้ร่างโดยผู้เกี่ยวข้องหลายกลุ่ม หลายครั้ง และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้รับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ คาดว่าอยู่ในช่วงท้ายของการพิจารณาแล้ว และหลังจากมีการเผยแพร่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ …. ฉบับนี้ ก็มีความห่วงใยของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ประเด็นมาตรา 3 การยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ จะมีการยกเลิกศึกษาธิการจังหวัด ยุบสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) เป็นต้น

“เราใช้เวลากว่า 5 ปี ถึงจะร่าง พ.ร.บ.นี้ขึ้นมา ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นของรัฐสภาและจะมีการทบทวน ในส่วนของ ศธ.ในฐานะที่เป็นกระทรวงใหญ่ จัดการศึกษาในหลายมิติ มีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และมีเครือข่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก การเชื่อมโยงจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หรือ กศจ. ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน มีเป้าหมายสำคัญที่จะจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และจากการรับฟังเสียงสะท้อนของ ศธจ. ศธภ. บุคลากร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่มีความกังวลว่าหน่วยงานจะหายไป ส่งผลให้การเชื่อมโยงบูรณาการในพื้นที่จะหายไปด้วยนั้น รวมทั้งก่อนหน้านี้ มีกลุ่มผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศก์ ก็ได้มานำเสนอว่า ไม่เห็นด้วยในประเด็นที่ต่อไปจะไม่มีเงินวิทยฐานะให้แก่กลุ่มดังกล่าว

ศธ.จึงเห็นว่าจำเป็นที่ต้องทบทวนปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้มีหน่วยงานนี้อยู่เป็นผู้แทนของกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัด และในภูมิภาค และให้ทุกคนได้คงสิทธิตามเดิม พร้อมกันนี้ยังมีอีกหลายมาตราที่จำเป็นต้องปรับปรุง เช่น ในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ทุกโรงเรียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งหมายรวมถึงโรงเรียนของรัฐทุกประเภทที่ไม่ได้อยู่ในสังกัด ศธ. ด้วย เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โรงเรียนในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ พร้อม ๆ มอบให้ สกศ.ในฐานะเลขานุการ ดูแลและดำเนินการในเรื่องร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาตินี้ ได้รวบรวมความคิดเห็นเพื่อเป็นเสียงสะท้อนต่อร่าง พ.ร.บ. รวมทั้งนำข้อเรียกร้องของ ศธจ. ในวันนี้ มาวิเคราะห์เข้าไว้ด้วย เพื่อนำเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ต่อไปด้วย” รมว.ศธ.กล่าว

นายณัทชัย ใจเย็น ศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรี เปิดเผยถึงข้อเสนอผลกระทบต่อการคงอยู่ของ ศธภ. และ ศธจ. ว่า เรื่องแรกคือผลกระทบต่อหน่วยงานและบุคลากร กว่า 3,000 คน ที่เป็นบุคลากรใน ศธภ. ศธจ. และคุรุสภาจังหวัด ตลอดจนโรงเรียนเอกชน ไม่สามารถปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ได้ รวมไปถึงสิทธิที่จะได้รับเงินเงือนเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะ ค่าตอบแทน ต่อมาเป็นผลกระทบต่อการจัดการศึกษาในพื้นที่ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ หากไม่มี ศธภ. ศธจ. ก็จะไม่มีหน่วยงานจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาระดับจังหวัดและแผนปฏิบัติการเชิงบูรณาการในพื้นที่ การจัดระบบข้อมูลสารสนเทศการศึกษา การกำกับติดตามการทำงานของหน่วยงานและสถานศึกษาตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ไปจนถึงผลกระทบด้านงานวิชาการ การนิเทศ และแนะแนวการศึกษา การศึกษาเพื่อคนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความสามารถพิเศษ งานด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการกีฬาเพื่อการศึกษา และที่สำคัญคือ จะขาดหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับติดตาม ส่งเสริมการจัดการศึกษาเอกชน ซึ่งมีกว่า 11,054 แห่ง มีนักเรียน 3,346,900 คน ครูและบุคลากร 138,208 คน (ข้อมูล 24 มิถุนายน 2564) ดังนั้น จึงขอให้มีการทบทวนการคงอยู่ของ ศธภ. ศธจ. ไว้ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการในระดับภาคและระดับจังหวัด ประสานความร่วมมือ บูรณาการและเชื่อมโยงงานด้านการศึกษาเชิงพื้นที่กับทุกภาคส่วน ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการแต่งตั้งฯ รองรับการกระจายอำนาจการบริหารการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐานตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเชื่อมั่นในรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เห็นความสำคัญของ ศธภ. และ ศธจ. เสมอมา

[Sassy_Social_Share]