“ตรีนุช” เยี่ยมสนามสอบครูผู้ช่วย ย้ำโปร่งใสตรวจสอบได้ ออกข้อสอบตอบโจทย์พื้นที่

วันที่ 24 มิถุนายน 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2566 ณ สนามสอบโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี กรุงเทพมหานคร โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) และผู้บริหารของ สพฐ. ร่วมด้วย

รมว.ศธ. กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมสนามสอบฯแห่งนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเป็นการสอบของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) มีผู้มีสิทธิ์สอบ 1,689 คน ใน 15 กลุ่มวิชา และ 68 ห้องสอบ ในจำนวนนี้เป็นผู้มีสายตาเลือนลาง 2 ราย ผู้พิการทางสายตา 1 ราย ผู้พิการทางร่างกาย 4 ราย และผู้พิการทางการได้ยิน 49 ราย โดยมีเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการคุมสอบ ดูแลช่วยเหลือในการสอบได้อย่างลุล่วง

สำหรับการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ภาพรวมทั้งประเทศในปีนี้ ได้ดำเนินการจัดสอบแข่งขันฯ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด มีการสอบข้อเขียน ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป ในวันที่ 24 มิถุนายน 2566 และ ภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ในวันที่ 25 มิถุนายน 2566 พร้อมกันในเขตพื้นที่การศึกษา 205 แห่งทั่วประเทศ โดยมีผู้มีสิทธิสอบรวมทั้งสิ้น 169,595 คน ใน 63 กลุ่มวิชา ในสนามสอบทั่วประเทศ 262 สนาม ซึ่งมีตำแหน่งว่าง 7,813 อัตรา ทั้งนี้ มีผู้สมัครสอบมากที่สุด ที่ สศศ. จำนวน 4,793 ราย ตามด้วย สพป. สระแก้ว เขต 1 จำนวน 3,162 ราย และ สพป. สงขลา เขต 3 จำนวน 3,019 ราย ตามลำดับ ส่วนกลุ่มวิชาหรือสาขาวิชาเอกที่มีผู้สมัครสอบมากที่สุด คือ ปฐมวัย/การศึกษาปฐมวัย/อนุบาลศึกษา จำนวน 21,525 ต่อด้วยสังคมศึกษา จำนวน 19,757 ราย และภาษาอังกฤษ จำนวน 16,719 ราย ตามลำดับ ทั้งนี้กลุ่มวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ และอรรถบำบัด ไม่มีผู้สมัครสอบเลย

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ได้กำชับให้ สพฐ. ดำเนินการจัดสอบด้วยความเรียบร้อย โปร่งใสยุติธรรม และตรวจสอบได้ เพื่อให้ได้ครูที่เป็นต้นแบบที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน ในส่วนของการออกข้อสอบ ได้ย้ำให้ออกข้อสอบตอบโจทย์บริบทของแต่ละพื้นที่ มีความยืดหยุ่น ต้องไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป และทุกมหาวิทยาลัยที่ร่วมออกข้อสอบ จะต้องจัดทำข้อสอบเป็นมาตรฐานกลาง สำหรับวัดคนที่จะมาเป็นครู โดยเน้นการแก้ปัญหาหรือทักษะเฉพาะหน้าให้มากขึ้น เพราะข้อสอบถือเป็นกุญแจสำคัญในการได้ครูตรงกับความต้องการต่อไป

นวรัตน์ รามสูต : เรียบเรียง

ฤทธิเกียรติ ยศประสงค์ : ถ่ายภาพ

สุวิชา บุญญานุพงศ์ : กราฟิก

กลุ่มประชาสัมพันธ์ : รายงาน

ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์สารนิเทศการศึกษาขั้นพื้นฐาน

24/6/2566

[Sassy_Social_Share]