รมช.คุณหญิงกัลยา ชื่นชมนักศึกษา ปวส. สาขาวิชาพืชศาสตร์ ไทย-อิสราเอล ปี 2565 หวังช่วยยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และนำความรู้ส่งต่อแก่รุ่นน้องและเกษตรกรในพื้นที่

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวให้โอวาสนักศึกษาในกิจกรรมปฐมนิเทศนักศึกษาก่อนเดินทางเพื่อให้ความรู้และการเตรียมพร้อมในการปฏิบัติตนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดนักศึกษา โดยมี นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้บริหาร ศธ. เข้าร่วม ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเร็ว ๆ นี้
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ รู้สึกยินดีกับนักศึกษาทุกท่านที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนทวิภาคี ระดับ ปวส. สาขาวิชาพืชศาสตร์ ไทย-อิสราเอล ประจำปี 2565 อิสราเอลเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมด้านการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง การพัฒนาภาคการเกษตรของอิสราเอลจัดว่าเป็น การพัฒนาที่เกิดจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ นักวิทยาศาสตร์ เกษตรกร ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรที่เกี่ยวข้อง จนนำมาซึ่งเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นระบบการชลประทานที่มี ประสิทธิภาพ การย่อยสลายแบบไร้อากาศ ระบบการปลูกพืชในเรือนกระจก รวมทั้งการวิจัยการเกษตรในทะเลทราย และการกำจัดเกลือ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้อิสราเอลจึงได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ทำเกษตรกรรมอย่างเข้มข้น และหนึ่งในสามของผลผลิตที่ได้สามารถส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะยุโรป เป็นการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจโดยรวมของ ประเทศได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้อิสราเอลยังคงให้ความสนใจในการ พัฒนาด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยวเชิงเกษตร รวมไปถึงการสนับสนุน ให้มีระบบเกษตรกรรมที่ล้อมรอบเขตเมือง และการสร้างความเป็นผู้ประกอบการของเกษตรกร เพื่อให้เกิดการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ในหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดทิศทางการพัฒนาในการ ขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการสร้างความยั่งยืนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อเชื่อมประเทศ ไทยสู่ประชาคมโลก โดยรัฐบาลเน้นย้ำและให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ กลุ่มเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ สามารถอาศัยทุนความได้เปรียบของประเทศไทยในความหลากหลายเชิงชีวภาพมาต่อยอด เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความกินดี อยู่ดี ให้กับประชาชนชาวไทยในทุกภูมิภาค และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้
ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ได้เล็งเห็นว่าสาขาเกษตรกรรม จะต้องเป็นสาขาวิชาหลัก ๆ ของประเทศไทย โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ว่า แท้จริงแล้วเศรษฐกิจ และรายได้หลักของประเทศไทย ล้วนมากจากภาคเกษตรกรรม ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะผลักดันการจัดการเรียน การสอนอาชีวศึกษาสาขาเกษตรกรรม ให้มีความทันสมัย มีเทคโนโลยี เข้ามาช่วยสนับสนุนด้านเกษตร การส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมด้านการเกษตร ที่ต้องไม่อยู่แค่ในวงการการศึกษา แต่ต้องขยับออกไปสู่วงการอุตสาหกรรมในระดับกว้าง
โครงการความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนทวิภาคี ระดับ ปวส. สาขาวิชาพืชศาสตร์ ไทย-อิสราเอล จึงถือเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาโดยการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ที่จำเป็นต่อสาขาเกษตรกรรม กระทรวงศึกษาธิการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สอศ สถาบันการอาชีวศึกษา และสถานศึกษา จะร่วมกันผลักดันการเกษตรของไทยให้ประสบ ความสําเร็จ และเป็นสาขาวิชาแถวหน้าของประเทศไทยต่อไป
นับจากวันนี้ถือได้ว่าเป็นโอกาสอันดียิ่งที่นักศึกษาทุกท่านจะได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง การได้เรียนรู้ถึงกระบวนการคิดค้น นวัตกรรมในการเกษตร การได้เรียนรู้การเป็นมืออาชีพที่ประสบ ความสำเร็จด้านเกษตรกรรม ผ่านการเรียนรู้แบบ Learning by doing ตลอดระยะเวลา 10 เดือนนับจากนี้จะเป็นเวลาที่คุ้มค่ามากที่สุด ขอให้นักศึกษาทุกท่านเก็บเกี่ยวประสบการณ์และนำความรู้ที่ได้รับ กลับมาพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศ ช่วยกันยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และประกอบธุรกิจ ด้านเกษตรอย่างภาคภูมิ ตลอดจนขอให้นำความรู้ที่ได้รับกลับมาเผยแพร่ สู่น้อง ๆ และเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป
สุดท้ายนี้ ขอให้ลูก ๆ นักศึกษาทุกท่านเดินทางโดยสวัสดิภาพ ดูแล สุขภาพตนเองให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ อดทนอดกลั้น รักษาคุณธรรม จริยธรรมให้มีประจำตัว กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมเป็นกำลังใจและให้คำแนะปรึกษากับนักศึกษาทุกคน ขอให้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์นำกลับมาพัฒนาประเทศของเราให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
18/8/2565
[Sassy_Social_Share]