รมช.คุณหญิงกัลยา ประเดิมลงพื้นที่เปิดโครงการเกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ฯ ปรับเปลี่ยนเกษตรรองรับชีวิตวิถีใหม่สู่การทำจริง ที่ วษท.มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-ศรีสะเกษ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ลงพื้นที่เปิดโครงการเกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ “ภายใต้แนวคิด “ทำเกษตรบนเนื้อที่ 1 ไร่ มีรายได้ 100,000 บาทต่อเดือน (เฉลี่ยทั้งปี)” ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหาร วษท. คณะครูอาจารย์และนักศึกษา เข้าร่วม
รมช.ศึกษาธิการ. กล่าวว่า ภายหลังจัดงานแถลงข่าวเปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อหวังยกระดับทักษะอาชีพเกษตรกรไทยสู่เกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ ให้มีความยั่งยืน พร้อมเป็นแหล่งองค์ความรู้ด้านการเกษตรรองรับชีวิตวิถีใหม่ โดยกระทรวงศึกษาธิการมอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศ ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรผ่านกระบวนการเรียนรู้ ด้วยการวางแผนการทำเกษตรอย่างเป็นระบบ สู่โครงการเกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ทำเกษตรบนพื้นที่ 1 ไร่ มีรายไต้ 100,000 บาทต่อเดือน” ระหว่างพฤษภาคม-มิถุนายน 2566 ในรูปแบบการอบรม แบ่งเป็น คือ ภาคทฤษฎี 7 วัน และภาคเรียนปฏิบัติ 21 วัน รวมเป็นเวลา 1 เดือน โดยผู้ที่เข้ารับการอบรมและผ่านเกณฑ์จะได้รับเงินเริ่มต้นการลงทุน 1,300 บาทต่อคน
โดยหลักสูตรการอบรม ประกอบด้วย 1. เพื่อการวางแผนการทำการเกษตรอย่างเป็นระบบ (Coding for farm) เช่น การวิเคราะห์และสร้างทางเลือกในการผลิตและบริการ 2. การจัดการบริหารน้ำอย่างเป็นระบบ เช่น การเก็บกักน้ําและการระบายน้ำเพื่อการเกษตร หลักการใช้น้ำเพื่อประโยชน์ในการปลูกพืชอย่างมีประสิทธิภาพ 3. การปลูกพืช เช่น การปลูกข้าวโพดหวานระบบแม่นยำ การผลิตผักปลอดภัย การปลูกพืชไร่ผลิตอาหารสัตว์ และ 4. การเลี้ยงสัตว์ เช่น การเลี้ยงสัตว์ปีก การเลี้ยงโคพื้นเมือง การเลี้ยงกบ และการวางแผนการทำเกษตรอย่างเป็นระบบ
“ในพื้นที่ชุมชนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ ได้รับการตอบรับจากประชาชนในชุมชนเป็นอย่างดี นับได้ว่าเป็นที่น่ายินดีที่เกษตรกรและประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมการอบรม นอกจากการต่อยอดในอาชีพแล้ว ยังได้รับทุนในการประกอบอาชีพอีกด้วย จึงอยากชวนให้เกษตรกรและผู้ที่ต้องการมีอาชีพเข้าร่วมอบรม สิ่งสำคัญ อยากให้เลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงครอบครัว และเรียนรู้การจัดสรรอย่างเป็นระบบ การปลูกพืชผสมผสาน การจัดการน้ำ ดิน พืช และสัตว์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดบนพื้นที่ พึ่งพาตนเองได้ วางแผนประเทศไทยให้เป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก คนไทยจะมีอาชีพที่มั่นคง อยู่ดี กินดี มีคุณภาพ อย่างยั่งยืน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ขอบคุณภาพถ่ายและข้อมูล: ประชาสัมพันธ์ สอศ., คณะทำงาน รมช.ศธ.
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
9/5/2566