รมช.คุณหญิงกัลยา เปิดเวที “สภาวะการศึกษาไทย” ที่ สกศ. และ UNICEF ผนึกกำลังขับเคลื่อนการศึกษาไทย ก้าวข้าม VUCA World สู่ BANI World

เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กันยายน 2565 เวลา 09.00 น. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่องสภาวะการศึกษาไทย ปี 2565 โดยมี นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา, นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา พร้อมด้วย นางเซเวอรีน เลโอนาร์ดี รองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ณ โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สํานักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นหน่วยงานเชิงนโยบายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการศึกษาของประเทศไทย เนื่องจากได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบภารกิจด้านการศึกษาที่สำคัญของประเทศไทยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของประเทศ อาทิ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำแผนการศึกษาของชาติ ซึ่งเป็นแผนแม่บททางการศึกษาที่ถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เป็นผู้รับผิดชอบการพัฒนาเด็ก ปฐมวัยตามพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 รวมทั้งเป็นหน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการในการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จึงทำให้เห็นว่าสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นหน่วยงานที่กำหนดทิศทางการศึกษาในภาพรวมของประเทศไทย และความสําเร็จในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย ย่อมเริ่มต้นมาจากความสำเร็จในการพัฒนานโยบายของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงขอชื่นชมแนวทางการทำงานของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาที่เน้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกภาคส่วนมาช่วยคิด ช่วยพัฒนา และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ การศึกษาของประเทศไทยเป็นการศึกษาของประชาชน และเพื่อ ประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งแนวทางการทำงานที่เน้นการวิจัยเป็นฐานในการกำาหนดนโยบาย ทำให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ถูกต้อง ตรงตาม สถานการณ์ที่แท้จริง สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างตรงจุด ตรงประเด็น โดยเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งในการจัดทำรายงานสภาวะการศึกษาไทย เนื่องจากการท่านโยบายและแผนการศึกษา รวมทั้งการจัดการศึกษาของ หน่วยงานต่าง ๆ จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของสภาพความเป็นจริง และข้อมูลที่ถูกต้อง รายงานสภาวะการศึกษาไทย จึงเปรียบเสมือนเป็นผลการ วินิจฉัยสุขภาพทางการศึกษาของประเทศไทย ให้หน่วยงานต่าง ๆ ช่วยกัน แก้ไขปัญหาการศึกษา และพัฒนาการศึกษาอย่างตรงจุด และทันต่อสถานการณ์

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศนโยบายและจุดเน้น ของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่มุ่งเน้น ดำเนินการตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และนโยบายรัฐบาลทั้งในส่วนนโยบายหลักด้านการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย และนโยบายเร่งด่วน เรื่อง การเตรียมคนไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 และพหุปัญญาที่หลากหลาย โดยมีแนวนโยบายที่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและขับเคลื่อน อาทิ การจัดการศึกษาเพื่อความ ปลอดภัย การยกระดับคุณภาพการศึกษา การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย และการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน จึงอยากจะขอความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อน นโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 สู่การปฏิบัติให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ต้องการให้มีศึกษาและวิเคราะห์บริบทอย่างครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาของประเทศ สิ่งที่การศึกษาไทยต้องให้ความสำคัญคือ การพัฒนาทักษะผู้เรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STI & STEAM) อย่างมีคุณภาพ

ซึ่งเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ สร้างโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากผู้แทนสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพมหานคร (UNESCO Bangkok) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) ธนาคารโลกในประเทศไทย (World Bank Thailand) สํานักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO Secretariat) เยาวชน และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันสะท้อนภาพความจริงของการศึกษาระดับประเทศ สู่การจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาที่สอดคล้องและรองรับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของโลกต่อไป

[Sassy_Social_Share]