รมช.คุณหญิงกัลยา แถลงข่าวโครงการเกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ฯ สร้างคน สร้างงาน สร้างรายได้ภาคเกษตร
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานแถลงข่าวเปิดโครงการเกษตรประณีต ทฤษฎีใหม่ “ภายใต้แนวคิด “ทำเกษตรบนเนื้อที่ 1 ไร่ มีรายได้ 100,000 บาทต่อเดือน (เฉลี่ยทั้งปี)” ณ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
รมช. ศธ. กล่าวว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมพิธีเปิดและแถลงข่าว โครงการเกษตรประณีตทฤษฏีใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งได้ร่วมผลักดันให้เกิดขึ้น เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของการเกษตรและการเรียนการสอนด้านการเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาด้านการเกษตร
รมช.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ตามนโยบายที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทด้านต่าง ๆ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยการวางแผนการทำเกษตรอย่างเป็นระบบ (Coding for farm) สู่โครงการเกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ ภายใต้แนวคิด “ทำเกษตรบนเนื้อที่ 1 ไร่ มีรายได้ 100,000 บาท ต่อเดือน” หลักการที่สำคัญ คือ การทำเกษตรอินทรีย์ แบบผสมผสาน ปลูกพืชที่หลากหลายแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว การจัดการน้ำ ดิน พืช และสัตว์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดบนพื้นที่ 1 ไร่ รวมทั้งต้องปรับความคิดให้พึ่งพาตนเอง ให้มากที่สุด เป็นเกษตรกรมืออาชีพในรูปแบบเกษตรรวมกลุ่ม เกษตรนวัตกรรม เกษตรปลอดภัย เกษตรแปรรูป เกษตรเทคโนโลยี และเกษตรพอเพียง ปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำงาน ด้านการเกษตรให้สอดคล้องกับบริบทของวิถีชีวิต ชุมชน สังคม และทันต่อบริบทของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้การทำเกษตรในพื้นที่สำหรับกลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ว่างงาน นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และชุมชนในพื้นที่ได้ยกระดับทักษะอาชีพเกษตรกรไทยจากรูปแบบเดิมสู่เกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ ให้มีความยั่งยืนและมีความเข้มแข็งในอนาคต อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ ด้านการเกษตรที่รองรับชีวิตวิถีใหม่อีกด้วย
ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เสนอโครงการเกษตรประณีตทฤษฎีใหม่ต่อรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ด้วยการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการสร้างคน สร้างงาน สร้างรายได้ภาคเกษตร สามารถประกอบอาชีพเกษตร และนำไปต่อยอดในการประกอบธุรกิจเกษตรได้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 กว่า 9,582 คน รวมถึงผู้ที่ถูกเลิกจ้างงานและกลับถิ่นฐาน ซึ่งตัวชี้วัดของการดำเนินโครงการฯ คือ รายได้ของเกษตรกรในโครงการฯ ร้อยละ 80 มีรายได้ที่สูงขึ้น มีทักษะด้านการเกษตรทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ประมง รวมทั้งด้านการตลาด การทำบัญชี ความรู้สิ่งแวดล้อม และเข้าถึงแหล่งทุนได้ เป็นต้น ทั้งนี้ สอศ.ได้มอบหมายให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนด้านการเกษตร 49 แห่งทั่วประเทศ จัดฝึกอบรมให้กับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย โดยมีสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรทั้ง 4 ภาค ทำหน้าที่ติดตาม ประเมิน และรายงานผลโครงการฯ ตามลำดับ
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
สถาพร ถาวรสุข: ถ่ายภาพ
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
3/5/2566