รมช.สุรศักดิ์ นั่งหัวโต๊ะ ถกการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ฯ เตรียมขยายผล “มหกรรมประวัติศาสตร์ 4 ภูมิภาค สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย”

วานนี้ (วันที่ 5 เมษายน 2567) นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และสร้างจิตสำนึกในความเป็นไทย โดยมี นายกมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ., นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ผู้บริหาร ศธ. และคณะกรรมการ เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ.1 อาคาร สพฐ.4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

รมช.ศธ. เปิดเผยภายหลังจากประชุมว่า ในขณะนี้ทางคณะกรรมการพัฒนาการการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และสร้างจิตสำนึกในความเป็นไทย ได้ดำเนินการด้านแผนการขับเคลื่อนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ของสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยได้ประกาศเรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ พร้อมเตรียมคิกออฟเริ่มขับเคลื่อนมหกรรมการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทย ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ สุโขทัย นครพนมกาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช และปัตตานี ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วย การสร้างความตระหนัก ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของไทย การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ โรงเรียนต้นแบบ รวมทั้งการมีเสวนาวิชาการด้วย
นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้า MOU แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย ของ 4 กระทรวง (กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทยของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ พร้อมทั้งการคิกออฟการขับเคลื่อนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง ประจำปีงบประมาณ 2567 ช่วงเดือนธันวาคม 2566 ณ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ตามแนวทางของ สพฐ. และเวทีเสนาวิชาการ “เปิดโฉมหน้าวิชาประวัติศาสตร์ไทย: คน Gen ใหม่ เรียนเรื่องเก่าแบบไหนในยุค AI ครองเมือง” โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ท้ายนี้ สพฐ. มีแผนการดำเนินการขับเคลื่อนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ปี 2567 ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาครูต้นแบบเทิดทูนสถาบันสำคัญของชาติ การจัดมหกรรมการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง ใน 4 ภูมิภาค ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ 2.การจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงคุณูปการของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในราชวงศ์จักรีที่มีต่อสังคมไทย การประกวดสื่อวิดีทัศน์ ภาพยนตร์สั้นประวัติศาสตร์ และโรดโชว์เดินสายรูปแบบการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ 77 จังหวัด และขยายผลจัดงานมหกรรมประวัติศาสตร์ 4 ภูมิภาค ภายในปี 2567 อีกด้วย

ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป

นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง

ฤทธิเกียรติ์ ยศประสงค์: ถ่ายภาพ

สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟิก

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน

5/4/2567

[Sassy_Social_Share]