รมช.สุรศักดิ์ ร่วมประชุมบอร์ด กพอ. ชุดใหม่ ผลักดันแผนอีอีซี 8 ด้าน ตั้งเป้าดึงเงินลงทุนเข้าประเทศ ภายใน 99 วัน

วานนี้ (17 ตุลาคม 2566) เวลา 9.00 น. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ อีอีซี ครั้งที่ 2/2566 โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมฯ ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล

รมช.ศธ. กล่าวว่า การประชุมฯ ในครั้งนี้ ประธานการประชุมฯ ได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้หารือและร่วมกันพิจารณาร่างแผนดำเนินการในระยะ 1 ปี (ตุลาคม 2566-กันยายน 2567) เพื่อดึงดูดเงินลงทุนทั่วโลกผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 คลัสเตอร์หลัก มุ่งสู่เป้าหมายเร่งด่วนใน 99 วัน ได้แก่ การแพทย์ ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV การพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า (BCG) และการบริการ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ โดยมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 1. ด้านนโยบาย จัดทำแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2566-2570) 2. ด้านการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน เช่น ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุด เป็นต้น 3. ด้านการสร้างระบบนิเวศสำหรับการลงทุน โดยพัฒนาแหล่งระดมทุนอีอีซี รองรับการระดมทุนที่ใช้เงินตราต่างประเทศ 4. ด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 5. ด้านการจัดให้มีบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร พร้อมกับบูรณาการร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อเตรียมกำลังคนรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก และส่งเสริมการเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย โดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาและผู้ประกอบการชั้นนำ ผ่าน 12 ศูนย์เชี่ยวชาญพัฒนาบุคลากร จัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะใหม่ที่จำเป็นและตรงกับความต้องการอุตสาหกรรม 6. ด้านการพัฒนาพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยจัดตั้งศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษนิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีนอินดัสเตรียล เอสเตท พร้อมยกระดับบริการสาธารณสุขในพื้นที่อุตสาหกรรมปลวกแดง

7. ด้านการเริ่มต้นการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ เช่น ศูนย์ธุรกิจข้อมูล (Data Center) การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกอบรมเกี่ยวกับ Cloud Service กิจการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โครงการต้นแบบดิจิทัลแพลตฟอร์มและศูนย์ควบคุมการรีไซเคิล เป็นต้น และ 8. ด้านการสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่และชุมชน โดยจะต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยชุมชน วิสาหกิจชุมชน และกิจการเพื่อสังคมในพื้นที่อีอีซี จัดตั้งศูนย์เครือข่ายพลังสตรีอีอีซีระดับจังหวัดและอำเภอ รวมทั้งขยายผลโครงการเยาวชน อีอีซี สแควร์ สร้างโอกาสให้เยาวชน ได้ต่อยอดแนวคิด คิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถใช้ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพอ. ได้พิจารณาการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เพื่อการขับเคลื่อนรองรับนักลงทุนระดับนานาชาติ ที่แสดงความจำนงเข้าลงทุนในพื้นที่โครงการ EECd ด้วย

นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง

สถาพร ถาวรสุข: ถ่ายภาพ

สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟิก

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน

18/10/2566

[Sassy_Social_Share]