“รมว.ตรีนุช” กำชับผู้บริหารโรงเรียนสร้างเครือข่ายส่งต่อเด็ก ดึงภูมิปัญญาศิลปะโดดเด่นสร้างอัตลักษณ์ตามบริบทพื้นที่ พร้อมจัดหลักสูตรหลากหลายให้เด็กได้เรียนตามความถนัดและสนใจ
รมว.ศธ. กล่าวแสดงความยินดีกับผู้บริหารสถานศึกษาที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ซึ่งสะท้อนถึงผลลัพธ์ของการบริหารที่ดีเยี่ยมของโรงเรียนในโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล และขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมติเพิ่มเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลังจากที่เรารอคอยกันมากว่า 13 ปี ซึ่งจะทำให้สถานศึกษาเพิ่มคุณภาพในการจัดการศึกษาได้อย่างเหมาะสม ส่งเสริมประสิทธิภาพในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้มากยิ่งขึ้น โดยนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทางด้านการศึกษาไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind) ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษาปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพทางการศึกษา สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกศตวรรษที่ 21
“ขอให้ทุกท่านหันกลับมามองในบริบทพื้นที่ของท่านที่มีความแตกต่าง เพื่อปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนให้สอดรับกับโลกในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ทั้งด้านวิชาการเพียงอย่างเดียวด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านการใช้ชีวิต ฯลฯ โดยนำสิ่งที่โดดเด่นคือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับนักเรียนของเรา จัดหลักสูตรที่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของนักเรียนมัธยมศึกษาฯ เช่น กีฬา ดนตรี สิ่งแวดล้อม ความถนัดอาชีพ เช่นเดียวกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ ที่ ครม. ได้อนุมัติจัดตั้งรวม 18 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ จัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ที่ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้เป็น soft power ที่สำคัญของประเทศ
อีกกิจกรรมหนึ่งที่อยากจะให้ทุกโรงเรียนดำเนินการให้เด็กมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง คือการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น ผ่านระบบสภานักเรียน ซึ่งเร็วๆนี้จะมีการจัดการสัมมนาผู้นำสภานักเรียนทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอความคิดเห็นของนักเรียนต่อท่านนายกรัฐมนตรี โรงเรียนมัธยมของเรา แม้จะมีขนาดที่แตกต่างกันมาก แต่ก็ขอให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ตามแนวทาง Active Learning โดยร่วมกับ สพฐ.วางแผนบูรณาการการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเมื่อกลับมาเปิดเรียน on-site 100% แต่พบว่า เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของนักเรียนในสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียจำนวนมาก จึงขอให้ช่วยกันเอาใจใส่ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์บูลลี่ในโรงเรียน ทั้งในระหว่างนักเรียนกันเองและระหว่างครูกับนักเรียน รวมทั้งปัญหาการทะเลาะวิวาท และที่สำคัญคือการดูแลเรื่องจิตใจของนักเรียน หากเกิดปัญหากับนักเรียน นอกจากการป้องกันแล้วหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นผู้บริหารจะต้องเข้าถึงโดยเร็วที่สุด โดยสามารถใช้ Application MOE safety center เข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยเหลือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว” รมว.ศธ.กล่าว
ปชส.สร.ศธ.: รายงาน
[Sassy_Social_Share]