“รมว.ตรีนุช” ชื่นชม รร.ไตรประชาฯ จัดการเรียนแอคทีฟเลิร์นนิ่งได้ดี ฝากคงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์-ศิลปะท้องถิ่นน่าน

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 เวลา 11.00 น. นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจติดตามการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ณ โรงเรียนไตรประชาวิทยา อ.ปัว จ.น่าน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 2 โดยมี นางรุ่งอรุณ คีรีสัตยกุล รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนไตรประชาวิทยา กล่าวต้อนรับ

รมว.ศธ. กล่าวชื่นชมทางโรงเรียนเกี่ยวกับนโยบาย Active Learning และนโยบายพาน้องกลับมาเรียน เพื่อต้อนรับการเปิดเทอมที่จะมาถึง พร้อมยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องแผ่นดินไหวที่เป็นภัยธรรมชาติทางภาคเหนือ โดยเน้นย้ำนโยบายสถานศึกษาปลอดภัย และกล่าวว่าทางกระทรวงศึกษาธิการมีแนวคิดที่จะประสานงานกับตำรวจแห่งชาติ เพิ่มมาตรการความปลอดภัยภายในโรงเรียน พร้อมทั้งจังหวัดน่าน เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ ควรจะมีบทเรียนทางประวัติศาสตร์อยู่ในหลักสูตรสถานศึกษาสอดรับกับบริบทในพื้นที่ เพื่อเป็นการปลูกฝังให้นักเรียนอนุรักษ์ประวัติศาสตร์บ้านเมือง เชื่อมโยงกับศิลปวัฒนธรรม นอกจากนี้ ขอฝากให้ผู้บริหารของแต่ละโรงเรียนประชาสัมพันธ์นโยบาย Active Learning ให้กับโรงเรียนในพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้การเรียนการสอนทันต่อโลกยุคใหม่ พร้อมขอให้กำลังใจแก่ผู้บริหาร บุคลากรครูและนักเรียน ก่อนที่จะเดินชมนิทรรศการของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่อไป

ในตอนท้าย รมว.ศธ. ยังได้ให้สัมภาษณ์ว่า ขอชื่นชมบุคลากรครู เพราะถึงแม้ว่าทางโรงเรียนจะมีนักเรียนหลายชาติพันธุ์ แต่ทางโรงเรียนก็มีการจัดการเรียนการสอนโดยไม่มีอุปสรรคในเรื่องภาษา อีกทั้งยังส่งเสริมทางด้านทักษะอาชีพโดยร่วมมือกับอาชีวศึกษา จัดทำการเรียนการสอนแบบทวิศึกษา
รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวว่า โรงเรียนไตรประชาวิทยา เป็นโรงเรียนขนาดกลาง โดยมีนักเรียนกว่า 80% เป็นเด็กชาวเผ่าม้ง ในส่วนของการดำเนินงานทางโรงเรียนได้มีการปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการรักษาความปลอดภัยภายในโรงเรียน MOE Safety Center โดยเฉพาะการรับมือกับภัยธรรมชาติ อาทิ แผ่นดินไหว ทางบุคลากรครูได้สอนนักเรียนเพื่อรับมือกับภัยแผ่นดินไหวแบบภูมิปัญญาพื้นบ้าน และเรียนรู้การเฝ้าระวังการเกิดภัยธรรมชาติจากการลงพื้นที่จริง นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังมีการเตรียมพร้อมรับมือกับการพาน้องกลับมาเรียน ลดปัญหา Learning Loss

[Sassy_Social_Share]