“รมว.ตรีนุช” ตั้งเป้าสิ้นปีการศึกษา 2565 ออกกลางคันเป็นศูนย์ เน้นครูเข้าใจนักเรียนเป็นรายบุคคล

เมื่อวันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เวลา 8.30 น. นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มอบนโยบายเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และ ผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศ ผ่าน OBEC Channel สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

รมว.ศธ. กล่าวแสดงความขอบคุณทุกคนที่ได้นำนโยบายของกระทรวงไปปฏิบัติ ให้มีผลสำเร็จมีความคืบหน้าตามลำดับ พร้อมเน้นย้ำการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาที่สำคัญ ในการดูแลพัฒนาการของนักเรียนอย่างเป็นองค์รวม ในช่วงของการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 โดยให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยในสถานศึกษาเป็นอันดับแรก ทั้งด้านการเดินทางไป-กลับของนักเรียน การจัดสภาพแวดล้อมสถานศึกษาให้ปลอดภัย การให้บริการดูแลด้านโภชนาการ และสุขภาพ การป้องกันภัยธรรมชาติ รวมไปถึงการป้องกันภัยจากยาเสพติดและภัยจากอาวุธปืน ซึ่งต้องไม่เกิดขึ้นในสถานศึกษาอย่างเด็ดขาด และต้องปฏิบัติอย่างเข้มข้น ตามหลัก 3 ป. ได้แก่ ป้องกัน ปลูกฝัง และ ปราบปราม ภายใต้โครงการ MOE Safety Center เพื่อสร้างความปลอดภัยให้นักศึกษา ครู และบุคลากรทุกคน

“ในการเปิดภาคเรียนที่ 2/2565 นี้ กระทรวงศึกษาธิการได้มุ่งเน้นให้ครูกระชับความสัมพันธ์กับนักเรียนและผู้ปกครองมากขึ้น เพื่อทำให้เข้าใจนักเรียนเป็นรายบุคคล ทั้งนิสัยและชีวิตความเป็นอยู่ ได้พูดคุยกับผู้ปกครองโดยตรง เพื่อร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องเหมาะสม พร้อมสร้างเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชนให้ช่วยกันเฝ้าระวัง แจ้งเหตุความไม่ปลอดภัย รวมทั้ง ศธ.จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่นักเรียน ผ่านระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน “ Screening Learning Loss” ครอบคลุม 4 มิติ ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม แก้ไขปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอย นำข้อมูลนักเรียนมาใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม และป้องกันเด็กนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา ดังนั้น โครงการพาน้องกลับมาเรียน จึงยังเป็นนโยบายสำคัญที่เดินหน้าต่อเนื่อง เพื่อติดตามเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาครบ 100% และทำให้การออกกลางคันเป็นศูนย์ (zero drop out )

ในปีการศึกษา 2565 นี้ นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม School Mental Health ระบบดูแลนักเรียนและครูในสถานศึกษา ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ด้วย

และขณะนี้ยังมีสถานการณ์น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ รวมถึงบางพื้นที่น้ำลดลงแล้ว ได้ขอให้สำรวจความเสียหาย เพื่อจัดหางบประมาณสนับสนุน หากไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ ให้นำไปเรียนรวมกับโรงเรียนใกล้เคียง โดยให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางของนักเรียน” รมว.ศธ.กล่าว

รมว.ศธ. กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา และการแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอย นั้น ให้โรงเรียนจัดกิจกรรมสอนซ่อมเสริม ชดเชย โดยนำรูปแบบ Active Learning มาใช้ หรือจัดกิจกรรมเสริมทักษะเพิ่มเติมตามความถนัด ความสนใจ และเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุข มีทักษะการคิด และนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ และขอให้เพิ่มความสำคัญในวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง เพื่อสร้างสำนึกของความเป็นไทย รักในการเป็นชาติของเรา โดยจัดการเรียนรู้ตามความพร้อม และเหมาะสมในแต่ละบริบทพื้นที่

สำหรับนักเรียนที่จะจบชั้น ม.3 สถานศึกษาควรสำรวจความต้องการในการศึกษาต่อสายอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมส่งต่อเข้าสู่โครงการ “อาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ในปีการศึกษา 2566 โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ครอบครัวประสบปัญหาด้านค่าใช้จ่าย สำหรับหลักสูตรทวิศึกษา ซึ่งเป็นการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้รับวุฒิการศึกษาทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ตนได้มอบหมายให้ สพฐ. ร่วมกับ สอศ. จัดทำแผนระดับจังหวัดให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ โดยมีเป้าหมายระยะสั้น เน้นการเรียนการสอนทวิศึกษาในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนตามโครงการพระราชดำริ และโรงเรียนที่มีความพร้อม

สำหรับเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ใหม่) หรือ เกณฑ์ PA นั้น ขณะนี้มี PA Support Team ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินแบบใหม่แล้ว ซึ่งหลายคนในที่นี้ ได้รับผิดชอบใน PA Support Team ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษา เป็นบุคลากรสำคัญในการเชื่อมโยงนโยบาย และสร้างความเข้าใจแก่ครู ไปสู่การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ ตนขอให้ทุกฝ่ายเป็นพลังผลักดันขับเคลื่อนงาน รวมทั้งการประสานการทำงานแบบเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อเป้าหมายของการจัดการศึกษา คือ คุณภาพผู้เรียน และหากสถานศึกษาใด มีความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพศึกษา ตนจะถือโอกาสในการลงพื้นที่เพื่อขอไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนของท่านด้วย

[Sassy_Social_Share]