“รมว.ตรีนุช” มอบนโยบายเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน รร.เอกชน เน้นย้ำดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษา-ยกระดับคุณภาพการศึกษาไปพร้อมกัน
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงนโยบายและการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนของโรงเรียนเอกชน และมอบนโยบายส่งเสริมการจัดการศึกษาเอกชน โดยมีนายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด (สช.จังหวัด) ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัด (ประธาน ปส.กช.) นายกสมาคมทางการศึกษาเอกชน ผู้บริหาร และครูโรงเรียนเอกชน เข้าร่วมรับมอบนโยบาย ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศธ. กล่าวว่า โรงเรียนเอกชนมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา และการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา โรงเรียนเอกชนสามารถจัดการศึกษาตามแนวทางนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการได้อย่างมีคุณภาพ โดยมีประเด็นสำคัญหลายประการ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเอกชนที่ดำเนินการสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้ว ได้แก่ การปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครอบคลุมนักเรียนโรงเรียนเอกชนในระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 1,974,774 คน โดยจะเป็นการปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปีงบประมาณ ระหว่าง พ.ศ. 2566 – 2569 โครงการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ปกครองและนักเรียน ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน เมื่อปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมา โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย โดยการติดตามเด็กตกหล่น และเด็กออกกลางคัน การปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลสำหรับนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา และโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และการสำรวจข้อมูลค่าใช้จ่ายจริงเพื่อการช่วยเหลือต่อไปในอนาคต
รมว.ศธ. ยังเน้นย้ำการศึกษาเพื่อความปลอดภัย สช. ได้จัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยของ สช. ตามแนวทางป้องกัน การปลูกฝัง และปราบปราม ของ “ศูนย์ความปลอดภัยซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ” ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ 2566 โดยได้ร่วมมือกับ ศธจ. สช.จังหวัด และโรงเรียนเอกชน ในการจัดทำแผนและแนวทางการบริหารจัดการระบบมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับสถานศึกษา รวมไปถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน กำชับไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและอาวุธปืน ในส่วนของการจัดการศึกษา นอกจากจะต้องเตรียมความพร้อมสถานศึกษา หลังจากประกาศยกเลิกโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งในการจัดสภาพแวดล้อม ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการเรียนรู้ สุขอนามัย การการเฝ้าระวัง และรายงานผลแล้ว ขอให้ยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วย โดยสนับสนุนให้สถานศึกษานำหลักสูตรฐานสมรรถนะ และจัดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) ไปสู่การปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งการพัฒนาทักษะดิจิทัลและภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) การการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง
ทั้งนี้ สช.ยังได้เตรียมจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือภัยพิบัติ เพื่อช่วยเหลือสถานศึกษา หน่วยงาน ครู นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนด้วย