“รมว.ตรีนุช” เปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานพิธีเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารการศึกษา นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมกว่า 2,000 คน ณ ลานสาเกตนคร หน้าหอโหวต บึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด
รมว.ศธ. กล่าวแสดงความชื่นชมคณะกรรมการจัดงานฯ และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา พร้อมยังจัดหาประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติ รวมถึงกระบวนการศักยภาพผู้เรียนและมีเวทีให้แสดงออกเชิงสร้างสรรค์ ทั้งในและนอกสถานศึกษา ดังนั้น การจัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน จึงนับว่าเป็นกิจกรรมสำคัญที่สะท้อนให้เห็นความสามารถของนักเรียนในด้านต่างๆ ทั้งความรู้ ทักษะกระบวนการ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงการให้เกียรติผู้อื่น โดยมิได้มุ่งผลการแข่งขันเพียงอย่างเดียว ทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมจำนวนมาก ทั้งระดับโรงเรียน ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ระดับจังหวัด จนถึงระดับภาคในที่สุด
“ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้แก่หน่วยงาน รวมถึงสถานศึกษาทุกแห่ง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนในครั้งนี้ โดยเฉพาะผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของงาน ที่ได้เสียสละทุ่มเทในการฝึกฝนจนสามารถพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถจนเกิดผลสัมฤทธิ์ในด้านต่าง ๆ เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน” รมว.ศธ. กล่าว
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงริเริ่มการจัดงานศิลปหัตถกรรมสืบสานถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง โดยมีจุดมุ่งหมาย “เพื่อจะแนะนำชักจูงให้เด็กชายหญิงในสมัยนั้น ได้เอาใจใส่ฝึกหัดศิลปหัตถกรรม ซึ่งสามารถเป็นทางเลี้ยงอาชีพต่าง ๆ ได้” และเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของการจัดการศึกษา ที่มุ่งหวังให้การจัดงานศิลปหัตถกรรมของนักเรียน เป็นเวทีให้นักเรียนแสดงออกถึงความรู้ความสามารถ พัฒนาทักษะด้านวิชาการ วิชาชีพ ดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ ทักษะชีวิต โดยเน้นหลักกิจกรรมพัฒนาสมอง การลงมือปฏิบัติ และสุขภาพ ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง จนเกิดเป็นทักษะฝีมือและความถนัด พัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศ เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคต และเผยแพร่ผลงานสู่สายตาสาธารณชน โดยกิจกรรมไม่เน้นการแพ้ ชนะ แต่เน้นการพัฒนาและการแสดงออกอย่างเต็มกำลัง ให้เกียรติกับตนเอง และเพื่อนที่ร่วมกิจกรรม สอดรับกับนโยบายและบริบทการจัดการศึกษาที่เปลี่ยนไป รวมทั้งมีการให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของแต่ละภูมิภาค และการส่งเสริม SOFT POWER ในบริบทของแต่ละท้องถิ่น ที่มีความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป
นวรัตน์ รามสูต : เรียบเรียง
ฤทธิ์เกียรติ ยศประสงค์ : ถ่ายภาพ
สุวิชา บุญญานุพงศ์ : กราฟิก
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ. : รายงาน1/2/2566