“รมว.ตรีนุช” เปิดงานสุดยอดนวัตกรรมอาชีวะ เฟ้นหาผลงานฝีมือชนสร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อชุมชน-สถานศึกษา-ประเทศ
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานพิธีเปิดงาน “สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา” การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2565 โดยมีว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เป็นผู้กล่าวรายงาน มีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ผู้อำนวยการสถานศึกษา ประธานกรรมการสิ่งประดิษฐ์ระดับชาติ คณะกรรมการสิ่งประดิษฐ์ระดับภาค นักเรียนนักศึกษา เข้าร่วมงาน ณ ห้องไดมอนด์ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต จังหวัดปทุมธานี
การจัดงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ จึงเป็นเวทีที่มีคุณค่า สร้างโอกาสให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิด การวางแผน ผ่านการลงมือปฏิบัติ โดยอาศัยความรู้และทักษะในหลายด้าน เป็นผู้กล้าริเริ่มสิ่งใหม่ คิดเป็น ทำเป็น และแก้ไขปัญหาอย่างมีเหตุผล และที่ผ่านมาผู้เรียนอาชีวะก็ได้แสดงฝีมือและความสามารถ สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมมาแล้วหลายผลงาน อาทิ อุปกรณ์เทคนิคด้านความปลอดภัยที่ติดตั้งในรถรับ-ส่งนักเรียน ของวิทยาลัยเทคนิคลำปาง เครื่องตรวจจับการเคลื่อนไหวการหายใจ และตรวจจับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรถยนต์ พร้อมส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังครู ผู้ปกครองเข้าช่วยเหลือ ของวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์-อัมพาต ของวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา เครื่องจักรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ของวิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี และวิทยาลัยเทคนิคนครนายก เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการยกระดับผู้เรียนอาชีวะ ให้เกิดทักษะเฉพาะด้าน มีสมรรถนะสูง ตอบโจทย์กำลังคนที่พร้อมขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
“ผลงานการประกวดของน้อง ๆ ถือว่าทำได้ยอดเยี่ยมและน่าภาคภูมิใจมาก เพราะไม่เพียงเป็นผลงานสร้างชื่อเสียงระดับประเทศเท่านั้น ยังมีผลงานระดับนานาชาติในหลายด้านด้วย ซึ่งการจะประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ได้ ต้องอาศัยทั้งความรู้ ทักษะ และเทคนิคการคิดวิเคราะห์ต่าง ๆ ตามหลักการสอนของอาชีวะ ที่เน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และกลไกต่าง ๆ จนสามารถจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรสำเร็จในหลายผลงาน ทั้งนี้ขอฝากผู้บริหารอาชีวะต่อยอดผลงานเหล่านี้ เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ในระดับมหาวิทยาลัย หรือตามความต้องการและความสามารถของน้อง ๆ ตลอดจนโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และต่อยอดการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป
ในโอกาสนี้ ดิฉันขอขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนและร่วมสร้างสรรค์ให้เกิดโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชน สังคม ประเทศชาติ และหวังว่าจะเกิดประโยชน์ทางด้านการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง” รมว.ศธ.กล่าว
ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า สอศ. นำนโยบายเร่งด่วนสู่การขับเคลื่อนให้เกิดคุณภาพแก่ผู้เรียนอาชีวศึกษา เพื่อยกระดับ เพิ่มสมรรถนะกำลังคนสมรรถนะสูงด้วยการสร้างสร้างสรรค์ผลงาน บูรณาการนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และองค์ความรู้สู่ชุมชน (OVEC Show & Share) เป็นการสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์โดยคนรุ่นใหม่ สู่การจัดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา และพัฒนาต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยปัจจุบันมีผลงานมากกว่า 1,231 ผลงาน สามารถเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อวิสาหกิจชุมชน สถานประกอบการ 785 แห่ง และมีผลงานที่สามารถจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร จำนวน 49 ผลงาน แล้ว
การจัดงาน “สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา” ระดับชาติ เพื่อคัดเลือกผลงานจากระดับจังหวัดและระดับภาค 5 ภาค รวม 120 ผลงาน สู่การเป็นสุดยอดนวัตกรรมประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว สถานศึกษา ชุมชน และสังคม แบ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเทคโนโลยี 6 ประเภท ได้แก่ 1. การเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ 2. ด้านดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ 3. ด้านพลังงานสิ่งแวดล้อม 4. ด้านอาหาร 5. ด้านสุขภาพ (HEALTH CARE) และ 6. ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์
นวรัตน์ รามสูต : เรียบเรียง
ฤทธิเกียรติ์ ยศประสงค์ : ถ่ายภาพ
สุวิชา บุญญานุพงศ์ : กราฟิก
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ. : รายงาน
10/2/2566