“รมว.ตรีนุช” เปิดประชุมวิชาการขับเคลื่อนการพัฒนา “กำลังคนอาชีวศึกษา” สมรรถนะสูง สู่อนาคต
เมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2566 เวลา 9.00 น. นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมวิชาการปัจจุบันสู่อนาคตการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ “สื่อสาร ส่งเสริม สู่การปฏิบัติ” ซึ่งเป็นการประชุมผู้บริหารระดับภูมิภาคของสถาบันการอาชีวศึกษา วิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทั้งของรัฐและเอกชน ในเขตภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
รมว.ศธ. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย ในส่วนของอาชีวศึกษา ได้เน้นย้ำการพัฒนาการอาชีวศึกษา คุณภาพวิชาชีพ และแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการจัดระบบและกลไกความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในรูปแบบทวิภาคีที่ชัดเจน ซึ่งเป็นการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะขั้นสูง สามารถนำความรู้และทักษะมาใช้แก้ไขปัญหาและต่อยอด เพื่อสร้างนวัตกรรมให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการพัฒนากำลังคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมแล้ว และกำลังคนที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรม ตลอดจนเตรียมการผลิตกำลังคนในสาขาที่ขาดแคลน ด้วยการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เร่งรัดขยายระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้การอาชีวศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุน และส่งเสริมระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง มั่นคง ซึ่งเป็นนโยบายที่ชัดเจน และเป็นแนวทางปฏิบัติที่ต้องยึดถือในการสร้าง คุณภาพทางการศึกษา
“ดิฉันขอชื่นชมในวิสัยทัศน์ การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่ง สอศ. ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้เรียนในหลักสูตรการเรียนการสอนทวิภาคี ให้ได้ร้อยละ 50 ของผู้เรียนทั้งหมด หรือ จำนวน 511,177 คน ในปี 2568 จึงนับเป็นความท้าทายของผู้บริหารการศึกษาทุกท่าน หากสามารถร่วมมือกันทำได้สำเร็จไม่เพียงจะส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน ยังเป็นการเสริมสร้างรากฐานของชุมชน และสังคมได้ อย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้การเดินหน้าสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาในโครงการอาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ การปฏิรูปและยกระดับ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 48 แห่ง ภายใต้แนวคิด 1 ฟาร์ม 1 วิทยาลัย ตลอดจนการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขายานยนต์ไฟฟ้า และการส่งเสริมความเป็นเลิศเฉพาะทางภายใต้โครงการ CVM และ Excellent Center ซึ่งเป็นโครงการขับเคลื่อนที่สำคัญในการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา สำคัญที่สุดที่ทำให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ ส่วนร่วมของผู้บริหารสถานศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการระดมความคิด หาปัญหาและอุปสรรคในแต่ละบริบทและพื้นที่ เพื่อทำให้สถานศึกษาที่อยู่ห่างไกล หรือยังต้องการความช่วยเหลือ ได้มีโอกาสพัฒนาและสามารถเข้ามาฝึกงานในสถานที่ปฏิบัติงานจริง ได้ใช้เทคโนโลยีจริง ท้ายสุด ขอขอบคุณบุคลากร สอศ.ทุกท่านที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพให้มีคุณภาพ มีคุณธรรม สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาประเทศ เชื่อมโยงกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล และนโยบายจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ สิ่งนี่คืองานของทุกท่าน ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้เรียน ในการสร้างทรัพยากรบุคคลให้เป็นผู้มีความรู้ มีทักษะวิชาชีพเพื่อการมีงานทำ และพัฒนาประเทศชาติต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว
นวรัตน์ รามสูต : เรียบเรียง
ฤทธิเกียรติ์ ยศประสงค์ : ถ่ายภาพ
สุวิชา บุญญานุพงศ์ : กราฟิก
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ. : รายงาน
23/1/2566