รมว.ตรีนุช เปิดประชุมฯ ระดับชาติ “พลิกโฉมการศึกษา” ย้ำ ศธ.ไทยมุ่งมั่นขับเคลื่อนด้านการศึกษาทุกมิติ ตามเจตนารมณ์ของถ้อยแถลงกรุงเทพฯ ในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ของยูเนสโกอย่างเข้มแข็ง

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพลิกโฉมการศึกษา (National Consultation for Transforming Education Summit) ณ ห้องบอลรูม 2-3 ชั้น 11 โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย นายชิเกรุ อาโอยางิ ผู้อำนวยการ องค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ รศ.ดร.จีระเดช อู่สวัสดิ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.สัมพันธ์ ศิลปะนาฏ รองประธานสายงาน FTI Academy สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร.ไกรยศ ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วม
รมว.ศธ. กล่าวตอนหนึ่งว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพลิกโฉมการศึกษา เป็นการหารือร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม ในการแลกเปลี่ยน และกำหนดวิสัยทัศน์อนาคตด้านการศึกษา ่สอดคล้องกับการดำเนินงานที่จะบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 เพื่อเตรียมความพร้อมในการพลิกโฉมการศึกษาของประเทศไทย ที่จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะ และการแสดงถึงแนวทางการศึกษาของไทยต่อที่ประชุม Transforming Education Summit (TES) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2565 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
รัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาไว้อย่างชัดเจนว่า การขับเคลื่อนด้านการศึกษาใด ๆ ต้องมุ่งเน้นถึงการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค โดยไม่มีใครตกหล่นจากระบบการศึกษา และเด็กไทยทุกคนต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ และเป็นการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง ในสถานที่จริง รวมถึงการประยุทธ์ใช้เทคโนโลยีอย่างเข้มข้นมาสนับสนุนการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ในทุกช่วงวัยตลอดอายุของชีวิต
“การพลิกโฉมเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของไทย จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการฟื้นฟูการศึกษาภายหลังโรคโควิด-19 ซึ่งระบบการศึกษาจำเป็นต้องมีการปรับตัว ให้เข้ากับสถานการณ์และโลกในยุคหลังโควิด-19 โดยกระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางในการรับมือด้านการศึกษาตามบริบทและความเหมาะสมอย่างต่อเนื่องโดยตลอด ได้แก่ การจัดการศึกษาแบบ On-Air, Online, On-Demand, On-Hand และ On-Site ซึ่งการเรียนการสอนแบบ On-Site สำคัญมากที่สุด การมุ่งเน้นมาตรการที่สนับสนุนการนำน้อง ๆ นักเรียนกลับคืนสู่รั้วโรงเรียนในโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” การจัดสรรวัคซีนให้แก่ครู และนักเรียนอย่างทั่วถึง การผลักดันนโยบายสถานศึกษาปลอดภัย MOE Safety Center รวมถึงการมอบโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ในโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ด้วยการจัดการเรียนการสอนทักษะที่จะเป็นในการทำงานจริงและที่พักให้ฟรีแก่เยาวชน
นอกจากนี้ ได้มีการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและดิจิทัลมาประยุกต์เพื่อสนับสนุนคุณภาพโดยบูรณาการ ICT ในการเรียนการสอน ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ อาทิ การเรียนรู้ทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) การเรียนรู้แบบผสมผสานสำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลและยากต่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต รวมถึงการจัดหลักสูตรฝึกอบรมที่มุ่งเสริมสร้างสมรรถนะครูด้านทักษะ ICT เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนตอบสนองต่อการจัดการศึกษาในอนาคต การสำรวจผู้พิการที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา เพื่อการเข้าถึงการศึกษาในรปูแบบที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล พร้อมๆ กับการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพในอนาคต มีทักษะในการดำรงชีพ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ การพัฒนาคนทุกช่วงวัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) รวมถึงการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาโดยการให้ทุนการศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา
ด้านการจัดสรรงบประมาณนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนภาคบังคับ สายสามัญ และสายอาชีพ ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ในลักษณะขั้นบันได ใช้ระยะเวลา 4 ปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ทั้งนี้ จากการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการรับรองถ้อยแถลงกรุงเทพฯ 2565 สู่การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อปวงชนและการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Bangkok Statement 2022 Towards an effective learning recovery for all and transforming education in Asia-Pacific จึงเป็นการเน้นย้ำว่า ประเทศไทยและภาคส่วนต่าง ๆ มีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนด้านการศึกษาไม่เพียงแต่ในระดับประเทศเท่านั้น แต่เป็นการฟื้นฟูและพัฒนาการศึกษาทุกมิติตามเจตนารมณ์ของภูมิภาคและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 อย่างเข้มแข็ง และในการประชุม Transforming Education Summit เดือนกันยายนนี้ ประเทศไทยจะได้แสดงวิสัยทัศน์ นำเสนอถ้อยแถลง รวมถึงรายงานผลการหารือระดับชาติที่ครอบคลุมแนวทางปฏิบัติการทั้ง 5 หัวข้อ ได้แก่ การศึกษาที่ครอบคลุม การเรียนรู้ ทักษะชีวิตและงาน การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล การพัฒนาครู และงบประมาณด้านการศึกษา เพื่อไปสู่การพลิกโฉมการศึกษาที่แท้จริง” รมว.ศธ. กล่าว
ปชส.สร.ศธ.: สรุป/รายงาน
[Sassy_Social_Share]