รมว.ศธ. เปิดการประชุมสัมมนาผู้บริหารอาชีวะ ย้ำยกระดับคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาทุกมิติ กำหนดตัวชี้วัดผลิตกำลังคนไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเน้นระบบทวิภาคีจบแล้วมีงานทำ
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รัฐและเอกชน เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและยกระดับคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาทุกมิติ โดยใช้พื้นที่เป็นฐานประจำปีงบประมาน 2565 ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
รมว.ศธ. กล่าวขอบคุณ ทางสถาบันการอาชีวศึกษา 23 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้ขยายผลความร่วมมือการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคีกับภาคเอกชน ซึ่งเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันในการยกระดับความเป็นมืออาชีพด้านอาชีวศึกษารวมถึงการร่วมมือในแก้ไขปัญหาเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเปราะบาง การสร้างโอกาส สร้างความเสมอภาค และการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การพัฒนาครูซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ โดยส่งเสริมให้ครูได้มีโอกาสเข้าไปฝึกในสถานประกอบการซึ่งขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ที่มาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนที่เห็นความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากร
รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ภายในสัปดาห์นี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา หรือ อ.กรอ.อศ. ทั้ง 39 กลุ่มอาชีพ เพื่อการยกระดับการจัดการอาชีวศึกษา ในการร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตร และร่วมกันจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนากาลังคนอาชีวศึกษาให้มีทักษะที่ชำนาญ และเชี่ยวชาญมากขึ้น เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) จึงขอให้แต่ละสถานศึกษากำหนดตัวชี้วัด (KPI) ด้านการจัดการศึกษาทวิภาคี โดยเป้าหมายระยะสั้น ต้องการให้นักเรียนเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนแบบทวิภาคี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ทุกสถานศึกษา เพราะไม่เพียงจะได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ในสถานที่จริง เทคโนโลยี และระบบการบริหารจัดการที่แท้จริง ยังเป็นส่วนสนับสนุนให้นักเรียนได้รับค่าตอบแทน เป็นการสร้างรายได้เล็กๆ ให้กับนักเรียน และเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้ส่วนหนึ่ง
“ขอให้ท่านผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาการใช้จ่ายเงินในหมวดค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และค่าจัดการเรียนการสอนให้คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลโดยตรงกับตัวเด็กนักเรียนให้เหมาะสมมากที่สุด ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้มีมติเห็นชอบในการแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูในทุกสังกัด รวมถึงครูในสังกัด สอศ.ด้วย ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขมานานกว่า 16 ปี ให้ครูที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งใหม่ หรือครูผู้ช่วย สามารถยื่นคำร้องขอย้ายได้หลังการพัฒนาอย่างเข้มข้นแล้ว 2 ปี และได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู โดยไม่ต้องรอครบ 4 ปี ซึ่งถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานให้กับคุณครู นอกจากนี้ ขอฝากท่านผู้บริหารสถานศึกษาทุกท่าน ให้ดูแลน้อง ๆ นักเรียนที่เป็นเสมือนลูกหลานของเราอย่างใกล้ชิด ในการดูแลด้านความปลอดภัย และร่วมมือกันลดความเสี่ยงของการเกิดเหตุทะเลาะวิวาทของนักเรียน เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของนักเรียนในสายอาชีพร่วมกัน” รมว.ศธ. กล่าวในตอนสุดท้าย
1/8/2565
[Sassy_Social_Share]