“ลิณธิภรณ์” ตอบกระทู้บุหรี่ไฟฟ้า ชี้ชัด ศธ.เตรียมวางระบบ กม.-เครือข่าย เพิ่มมาตรการคุมเข้มในสถานศึกษา หวังตัดตอนผู้สูบกลุ่มเด็ก-เยาวชนตั้งแต่ต้นทาง

ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตอบกระทู้ถาม เรื่อง ขอทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ของนางเจียระนัย ตั้งกีรติ สมาชิกวุฒิสภา ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) โดยมี นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการตอบกระทู้ ณ ห้องประชุมวุฒิสภา อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร

“ภาพรวมของรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจำนวนเด็กที่เข้าไปเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นและติดอันดับต้น ๆ ของโลก และได้มีพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ดึงดูดความสนใจของเด็กมากขึ้น ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการตระหนักในเรื่องนี้ดี โดยดำเนินการใน 2 เรื่องที่สำคัญคือ ออกกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2568 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ให้ครอบคลุมไปถึง “บุหรี่ไฟฟ้า” และบารากู่ (Baraku) และจัดทำพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือบุคลากรในสถานศึกษา มีอำนาจในการตรวจค้นหาบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และสิ่งเสพติดต่าง ๆ ในสถานศึกษา จากเดิมที่เป็นเพียงการร้องขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจค้นในสถานศึกษาเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำร่างฯ เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเตรียมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ศธ. ได้หารือและประสานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่อยู่ระหว่างร่างกฎหมายการคุ้มครองเด็กอยู่ด้วย เพื่อให้เพิ่มเติมในเรื่องของเจ้าหน้าที่ในสถานศึกษาสามารถตรวจค้นบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ศธ. ได้พยายามสร้างเครือข่ายร่วมกับหลายหน่วยงาน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งตำรวจครู DARE (โครงการครูแดร์ Drug Abuse Resistance Education โครงการศึกษาเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติดในเด็กนักเรียน) ที่ ศธ. ได้ประสานให้เข้าไปอบรมให้ความรู้โทษและพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาต่าง ๆ กว่า 15,000 แห่ง มีครูเข้ารับการอบรมเพื่อเฝ้าสังเกตพฤติกรรม กว่า 8,000 คน และมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการ 4,000 คน” รมช.ลิณธิภรณ์ กล่าว

รมช.ลิณธิภรณ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญและใส่ใจในเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ เพราะเรารู้ดีกว่าบุหรี่เป็นสารตั้งต้นของยาเสพติดอื่น เมื่อมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ก็จะนำไปสู่ยาเสพติดประเภทอื่น ๆ และในปัจจุบัน ได้มีการผสมสารเสพติดอื่นเข้าไปในบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ดังนั้น เชื่อว่าหากทำตรงนี้ได้สำเร็จ จะมีมาตรการคุ้มเข้มกำกับดูแลบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาได้มากขึ้น และจำนวนเด็กและเยาวชนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าก็จะลดลงด้วย

ขอบคุณภาพ: รัฐสภา
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
21/7/2568

#เสมา2 #บุหรี่ไฟฟ้า
#วิทยุรัฐสภา #โทรทัศน์รัฐสภา #TPchannel10

[Sassy_Social_Share]