ศธ.-สอวน.-มศว แถลงความพร้อมของไทย จัดแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิก ม.ต้น ในโอกาสเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณ 100 ปี วันประสูติกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ เผยประเทศไทยมีความพร้อมจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งที่ 20 (The 20th International Junior Science Olympiad) เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีนักเรียนจาก 55 ประเทศทั่วโลก ร่วมแสดงความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา พร้อมใช้โอกาสนี้ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ เผยแพร่วัฒนธรรมไทย

รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ร่วมกับ มูลนิธิ สอวน. เตรียมจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งที่ 20 ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-10 ธันวาคม 2566 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานพิธีเปิดฯ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

“นับเป็นโอกาสอันดีที่ ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้เผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ให้แผ่ไพศาล และแสดงถึงความพร้อมของประเทศในหลายด้าน ทั้งด้านบุคลากรจัดการแข่งขัน ด้านวิชาการในการออกข้อสอบ และสถานที่จัดการสอบและต้อนรับนักเรียนจากทั่วโลก ซึ่งมั่นใจว่าประเทศไทย จะสามารถจัดการแข่งขันได้อย่างดีที่สุด” รมว.ศธ. กล่าว

รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (เลขาธิการมูลนิธิ สอวน.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียน อายุไม่เกิน 15 ปี จาก 55 ประเทศทั่วโลก ได้แสดงความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ตามพระประสงค์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อพัฒนานักเรียนและครูอย่างต่อเนื่อง และเป็นเวทีสร้างประสบการณ์ในการแข่งขันทางวิชาการระดับโลก ส่วนครูก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนครูและเยาวชนจากหลากประเทศ ทั้งยังเป็นการกระตุ้นความสนใจเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้นด้วย” รมว.ศธ. กล่าว
รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์เพื่อสังคม มศว กล่าวถึงความพร้อมการจัดการแข่งขันฯ ว่า มศว ได้มีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดีในทุกด้าน ทั้งด้านบุคลากร วิชาการ และสถานที่ ส่วนความพร้อมของข้อสอบ มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ พร้อมเตรียมจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมไทย เพื่อเผยแพร่ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยและช่วยผ่อนคลายแก่นักเรียนภายหลังการแข่งขันฯ

รศ.เย็นใจ สมวิเชียร กรรมการมูลนิธิ สอวน. กล่าวเสริมว่า การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการฯ ในครั้งนี้ ไม่ได้แข่งเฉพาะกลุ่มนักเรียนเท่านั้น แต่ครูอาจารย์ก็ต้องแข่งกัน ด้วยการใช้ความรู้ความสามารถ ในการต่อรองหรือชี้แจงถึงผลคะแนนประเมินกับคู่แข่งได้ จึงถือเป็นเวทีที่ทั้งนักเรียนและครู ต้องแสดงความสามารถให้เห็นเด่นชัด เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง

ฤทธิเกียรติ์ ยศประสงค์: ถ่ายภาพ

สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟิก

ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน

[Sassy_Social_Share]