ศธ. จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน 2566 “รมว.ตรีนุช” ย้ำ ศธ. เป็นแบบอย่างการสร้างวัฒนธรรมสุจริต ละอายต่อการกระทำผิด “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย” ให้บุคลากรทุกระดับส่งความปรารถนาดีผ่านคำอวยพร ทำจิตอาสาแทนการให้ของขวัญ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน และพิธีประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริต และมอบนโยบาย No Gift Policy ของกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด “กระทรวงศึกษาธิการโปร่งใส ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริต (MOE TRUST & Zero Tolerance)” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมี นายนิรุตติ สุทธินนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงศึกษาธิการ น.ส.สมปรารถนา วิกรัยเจิดเจริญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารและข้าราชการ เข้าร่วม ณ หอประชุมคุรุสภา

รมว.ศธ. กล่าวว่า ด้วยองค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล” ซึ่งนานาประเทศ รวมถึงประเทศไทย ได้มีการรณรงค์ผ่านการจัดงาน เนื่องในวันดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับกระทรวงศึกษาธิการได้จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ภายใต้แนวคิด “กระทรวงศึกษาธิการโปร่งใส ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริต (MOE TRUST & Zero Tolerance)” เพื่อแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงพลังความร่วมมือและเจตนารมณ์ร่วมกันของคนไทยในการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง

ที่ผ่านมา การอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อการเอื้อประโยชน์และการขาดจิตสำนึกในการแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวมนั้น เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สร้างความยุ่งยากและซับซ้อนในการพิจารณา ตรวจสอบ และตัดสินว่าการกระทำใดเป็นการทุจริต ซึ่งส่งผลต่อเนื่องที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงได้กำหนดให้ “การแก้ไขปัญหาการทุจริต” เป็น “วาระแห่งชาติ” โดยดำเนินการปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ให้มีความรัดกุม ครอบคลุมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตอย่างเป็นระบบ ก้าวข้ามค่านิยมอุปถัมภ์ ผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงเร่งรัดให้มีการดำเนินคดีต่อผู้กระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในด้านวินัยและอาญาอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนผ่านระบบการทำงานภาครัฐที่มีคุณธรรม และความโปร่งใส อันเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

“กระทรวงศึกษาธิการในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่หลักในการผลิตต้นทุนมนุษย์ที่สมบูรณ์ ต้องเป็นแบบอย่างของการสร้างวัฒนธรรมสุจริตที่จะหล่อหลอมให้เด็ก เยาวชน ประชาชน มีความละอายต่อการกระทำผิด ไม่ทน และเพิกเฉย และไม่ยอมให้ผู้อื่นกระทำการทุจริต อันส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยรวม เพื่อเป็นการส่งเสริมมาตรการป้องกันการทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการ โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และข้อครหาที่อาจเกิดขึ้น ในเทศกาล หรือวันสำคัญต่าง ๆ บุคลากรทุกระดับในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สามารถแสดงความปรารถนาดีต่อกันได้ด้วยการอวยพรผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมถึงการทำจิตอาสาแทนการให้ของขวัญ เพื่อรักษาไมตรีและมิตรภาพความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง มติคณะรัฐมนตรี รวมถึงความมุ่งมั่นตามนโยบายของรัฐบาลในการบริหารประเทศ

ดิฉันขอเชิญชวนพี่น้องชาวกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมแสดงเจตนารมณ์ ที่จะมุ่งมั่นประพฤติปฏิบัติตนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดถือประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อสร้างสังคมไทยให้ปลอดจากการทุจริตคอร์รัปชันตลอดไป” รมว.ศธ.กล่าว

นายอรรถพล สังขวาสี ปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้มีส่วนราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐด้านการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment : OIT) ประจำปีงบประมาณ 2565 ในระดับ AA จำนวน 30 หน่วยงาน และระดับ A จำนวน 31 หน่วยงาน เข้ารับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตร

[Sassy_Social_Share]