ศธ.จัดพิธีทำบุญตักบาตร และพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่ครูผู้วายชนม์ฯ เนื่องในงานวันครู ครั้งที่ 67 พ.ศ.2566 “พลังครู คือ หัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา”

เมื่อวันจันทร์ที่ 16 มกราคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในมีพิธีทำบุญตักบาตรและถวายข้าวสารพระสงฆ์ เนื่องในงานวันครู ครั้งที่ 67 พ.ศ.2566 “พลังครูคือ หัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา” Teacher’s Power is the Heart of Transforming the Educational Quality ณ บริเวณสนามหญ้าหน้ากระทรวงศึกษาธิการ โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) นายนิรุตติ สุทธินนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. (ประจำคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. (ประจำนางกนกวรรณ วิลาวัลย์) นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมพิธีดังกล่าว

ต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำคณะผู้บริหารเข้าร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่ครูผู้วายชนม์ พิธีทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล และพิธีบูชาบูรพาจารย์ โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ต่อไปจัดโดยคุรุสภา ภายใต้แนวคิด “พลังครู คือ หัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา” Teacher’s Power is the Heart of Transforming the Educational Quality ในรูปแบบผสมผสาน ทั้ง Onsite และ Online กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 16 – 17 มกราคม 2566 โดยจัดพร้อมกันทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบพิธีระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครู และความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน และส่งเสริมยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ประกอบคุณงามความดีหรือทำคุณประโยชน์ต่อวงการศึกษา ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน และเป็นแบบอย่าง ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ยึดถือปฏิบัติตาม

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานในพิธีงานวันครูฯ กล่าวภายหลังร่วมพิธีคารวะครูอาวุโสของนายกรัฐมนตรี “พลเอก เกษม นภาสวัสดิ์” ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โดยครูอาวุโสของนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า มีความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวลูกศิษย์คนนี้มาก เพราะมีความโดดเด่นและมีลักษณะผู้นำที่ดีตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนนายร้อย โดยได้อบรมบ่มสอนด้วยความรัก ความปรารถนาดีเหมือนลูก ครูรักลูกอย่างไร ก็รักลูกศิษย์อย่างนั้น และรักนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับรักนักเรียนทุก ๆ คน ได้สอนให้เติบโตไปเป็นคนดี ทำงานอะไรก็ทำให้เต็มที่ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่ง และเมื่อเรียนจบได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่ มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นไปตามปณิธานที่ครูตั้งไว้ และมีความเข้าใจว่าการเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ เป็นเรื่องใหญ่และยาก แต่ท่านก็ทำได้ดี แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ครูภูมิใจได้อย่างไร

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบรางวัล รางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี 2566 และรางวัลคุรุสภา ประจำปี 2565 “ระดับดีเด่น” รวมจำนวน 17 รายในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวคำปราศรัยเนื่องในงานวันครูฯ ว่า บริบทสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วควบคู่กับความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์และผู้บริหารการศึกษา จึงจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ในปี 2566 นี้ รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการได้มีการส่งเสริมแนวทางการจัดการศึกษาให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยเน้นการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีสมรรถนะในการออกแบบการเรียนรู้ที่เป็นลักษณะการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ (Active Learning) ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss) ไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิค-19 ด้วย โดยการจัดการเรียนรู้จะพยายามทำให้นักเรียนมีทักษะการคิด ทักษะทางภาษา ซึ่งหมายถึงทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ทักษะการทำงานร่วมมือกับผู้อื่น ทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างรู้เท่าทัน และทักษะการใช้ชีวิตในโลกอนาคต ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ครอบครัว รู้จักรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รู้จักการปฏิบัติตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) และสร้างจิตสำนึกให้มีส่วนร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ให้สำเร็จ นอกจากนั้นในบทบาทของคุรุสภา ในฐานะองค์กรวิชาชีพ ยังได้ส่งเสริมให้มีการริเริ่มการสร้างบทบาทการนำทางวิชาการของผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยจัดตั้งเป็น ชุมชนวิชาการผู้อำนวยการสถานศึกษา (Principal Academy) และในอนาคตจะมีการตั้ง ชุมชนวิชาการของครูที่มีความลุ่มลึกเฉพาะสาขาการสอน ชุมชนวิชาการศึกษานิเทศก์ และคุรุสภา มีความมุ่งมั่นที่จะจัดให้มี “ราชวิทยาลัยครูและบุคลากรทางการศึกษา” เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น ๆ เพื่อสร้างความลุ่มลึกในการประกอบวิชาชีพต่อไป

“ครูคือคนที่สำคัญที่สุดในเรื่องของการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามยุทธศาสตร์ชาติฯ เชื่อมั่นว่า พลังครูทุกคน เป็นหัวใจของการนำการเปลี่ยนแปลงสู่คุณภาพการศึกษา ครูจึงควรเป็นผู้นำการเรียนรู้ กระตุ้น และสร้างแรงบันดาลใจและทัศนคติที่ดีต่อผู้เรียน ให้ความสนใจด้านการศึกษาที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากโลกใบเดิม เป็นโลกใบใหม่ที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่ผ่านมา รัฐบาลได้วางแนวทางพัฒนาการศึกษาในศตวรรษที่ 21 หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีสมรรถนะในการออกแบบการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ สร้างทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะการใช้ชีวิตในโลกอนาคต รวมทั้งความรับผิดชอบต่อสังคม รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนที่สองคือ ส่งเสริมการสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้โดยใช้เครื่องมือดิจิทัล เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ พร้อม ๆ กับการจัดสถานการณ์การเรียนรู้ ที่ทำให้นักเรียนได้รู้จักรากเหง้าความเป็นมาและเอกลักษณ์ของชาติ เกิดความรัก ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติ ประวัติศาสตร์ชุมชน หวงแหนแผ่นดินเกิด และเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ รวมทั้งการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลมีความปรารถนาและมุ่งมั่นมากที่สุด โดยทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจะต้องพุ่งเป้าให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงในระดับห้องเรียน และต้องใช้ปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นตัวตั้ง”

จากนั้นครู ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารการศึกษาจะต้องนำปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนมาเป็น “ประเด็นท้าทาย” แล้วลงมือทำงานร่วมกันในลักษณะของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพภายใต้กระบวนการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพนักเรียน นำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันของครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งการนำความสำเร็จในการแก้ปัญหามาเป็นตัวชี้วัดผลปฏิบัติงานและความเจริญก้าวหน้าในเส้นทางวิชาชีพของครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณครูอาวุโสทุกท่าน ที่ทำให้ผมได้ยืนอยู่ทุกวันนี้ เพราะว่ามีครูดี สังคมดีหล่อหลอม ซึ่งที่ผ่านมาพยายามทำตัวให้อยู่ในกรอบคำสอนของครูในการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ พร้อมฝากถึงการสอบว่า ข้อสอบจะต้องเป็นข้อสอบที่ให้ความรู้ ไม่ยากจนเกินไป สามารถอ่านและเข้าใจได้ง่าย เป็นข้อสอบช่วยพัฒนาทักษะการคิด ทักษะการเขียน เกิดประโยชน์ต่อการตัดสินใจได้ถูกต้อง เช่นเดียวกับการปรับปรุงตำราเรียน ซึ่งปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเรียนจากตำราอย่างเดียว ต้องมีการเรียนรู้นอกตำราด้วย โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีอยู่มากมายในโซเชียลมีเดีย จะทำอย่างไรให้การอ่านและเสพข้อมูลข่าวสาร ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียน ส่วนของรัฐบาลเอง ที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับการเรียน กศน. โดยตนได้ริเริ่มนำการเรียน กศน. ให้ทหารได้เพิ่มพูนความรู้ เพื่อช่วยให้กลับไปเป็นผู้นำในชุมชนและคนอื่น ๆ ในสังคม ตลอดจนการเรียนรู้ทางออนไลน์ก็มีความสำคัญในยุคดิจิทัล ทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสให้กับคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยความจำเป็นต่าง ๆ และการสอบเทียบ ที่จะทำให้ทุกคนได้ภูมิใจที่ได้ศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติมด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานกรรมการคุรุสภา ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยบทบาทและความสำคัญของเทคโนโลยี รูปแบบการศึกษาก็ปรับเปลี่ยนเป็นการศึกษายุคดิจิทัล “ครู” จึงต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนด้วย การเป็นครูในยุคการศึกษาดิจิทัลนั้น ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องเพิ่มความสามารถของตัวเองในการสร้างเนื้อหาการเรียนการสอนในสื่อต่าง ๆ มากขึ้น โดยการประยุกต์เทคโนโลยี และใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ในด้านการเรียนการสอน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้เรียนในอนาคตต่อไป

หลังจากนั้น มีการปาฐกถาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ครั้งที่ 6 เรื่อง “พลังครู คือ หัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา” Teacher’s Power is the Heart of Transforming the Educational Quality โดย นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และการเสวนาพิเศษ เรื่อง “พลังครูสู่การเปลี่ยนแปลง : ความหวัง และความท้าทาย” ทั้งนี้ ในวันที่ 17 มกราคม 2566 จัดให้มีพิธีมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ “คุรุสดุดี” จำนวน 688 ราย และการเสวนาพิเศษ เรื่อง “พลังครูสู่การสร้างความเท่าเทียม การจัดกิจกรรมวิชาการ Online บน Platform วันครู ผ่านเว็บไซต์ www.วันครู.com ในกิจกรรมงานวันครู ในส่วนภูมิภาคและกิจกรรมสัปดาห์วันครู ของหน่วยงานและสถานศึกษาทั่วประเทศ

นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง

ฤทธิเกียรติ์, ทิพย์สุดา, สถาพร: ถ่ายภาพ

สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟฟิก

ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ: รายงาน

16/1/2566

[Sassy_Social_Share]