ศธ.ประกาศปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ “พลิกโฉม” โรงเรียนต้นแบบสร้างนวัตกรรมครู สู่นวัตกรรมนักเรียน แบบ Active Learning
เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2565 เวลา 10.00 น. นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวรายงานการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ด้วยการพลิกโฉมโรงเรียนต้นแบบสร้างนวัตกรรมครู สู่นวัตกรรมนักเรียน แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมมอบนโยบายการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ด้วยการพลิกโฉมโรงเรียนต้นแบบสร้างนวัตกรรมครู สู่นวัตกรรมนักเรียนฯ ณ หอประชุมคุรุสภา
รมว.ศธ. กล่าวว่า การนำเสนอนวัตกรรมด้านการเรียนการสอน ที่เป็นผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนและครู เป็นผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการความร่วมมือ “พัฒนานวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมผู้เรียน” ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของคุณครู เพื่อการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา ที่ให้ความสำคัญในการเรียนการสอนรูปแบบ Active Learning รวมถึงการจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยน และการแบ่งปันความรู้ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความรู้ใหม่ และต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมผู้เรียนที่มีความหลากหลาย และเกิดประสิทธิผลในการจัดการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้น
โดยเริ่มทดลองในโรงเรียนสังกัด สพฐ. 29 โรงเรียน ในจังหวัดต้นแบบเขตพื้นที่ภาคกลาง 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สมุทรสาคร สุพรรณบุรี สระบุรี นครสวรรค์ และอ่างทอง และโรงเรียนในเครือข่ายอีก 4 โรงเรียน รวม 33 โรงเรียน ครอบคลุมทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก และในระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ได้ดำเนินการมากว่า 9 เดือน ปรากฏผลสำเร็จที่ส่งผลให้คุณครูสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ได้มากกว่า 1,500 นวัตกรรม
กระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านบทบาทของครู จากการสื่อสารทางเดียว เป็น Facilitator หรือผู้อำนวยความสะดวก ที่ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำการเรียนการสอนที่ยึดตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม แบบ Personalized Learning ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าเนื้อหาวิชา เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ หรือสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในตนเองโดยกระบวนการคิดขั้นสูง มีการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งนวัตกรรมที่เป็นผลผลิตของโครงการ จะถูกนำไปใช้เป็นสื่อ และกิจกรรมการเรียนรู้ โดยจะมีการขยายผล และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ผลผลิตนวัตกรรมครู สู่นวัตกรรมผู้เรียนจากโครงการต้นแบบเหล่านี้ ส่วนหนึ่งได้ถูกนำมาจัดแสดงในวันนี้ มากกว่า 500 รายการ
รมว.ศธ. ได้ประกาศนโยบายการปรับเปลี่ยนครูและผู้เรียนเป็นนวัตกรทางการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ เป็นการแสดงถึงความสำเร็จของโครงการที่มีต่อการพัฒนาสมรรถนะครูและผู้เรียน นับเป็นการพลิกโฉมประเทศด้านการพัฒนาการศึกษาของชาติตามแนวคิด Thailand 4.0 ที่จะทำให้คนไทยมีการสร้างนวัตกรรมเป็นของตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาตินำสู่การขับเคลื่อนประเทศให้ “มั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน” ในที่สุด
ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบโล่และเกียรติบัตรแก่ครูและนักเรียน ที่ร่วมประกวดนวัตกรรมดีเยี่ยม ดีเด่น และดีมาก พร้อมได้กล่าวมอบนโยบายสำคัญด้านการศึกษา ตอนหนึ่งว่า “นับเป็นการดำเนินการที่บ่งชี้ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศภายใต้นโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในยุค “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาลนี้เป็นอย่างดี เป็นการเตรียมเมล็ดพันธุ์ใหม่ด้วยการบ่มเพาะคนไทยให้เป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21” จากนิทรรศการผลการดำเนินโครงการสามารถชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้อย่างชัดเจน
ประเด็นความสำเร็จที่ท้าทายข้างต้น ต้องนำมาขยายผล โดย “การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้” ให้ทั่วถึงทุกโรงเรียนในระบบการศึกษาทุกระดับโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงศึกษาธิการต้องนำรูปแบบโครงการความร่วมมือ “พัฒนานวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมผู้เรียน” ไปสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนงานให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจและเกิดการปฏิบัติอย่างจริงจังที่สอดคล้องตรงกันสู่ความสำเร็จอย่างราบรื่น รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
[Sassy_Social_Share]