ศธ. ลงนาม Partnership School Project รุ่น 3 ต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับการศึกษา พัฒนาคุณภาพเด็กไทย

เมื่อวันพุธที่ 29 มีนาคม 2566 ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา Partnership School Project” รุ่นที่ 3 พร้อมด้วย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) และคณะผู้บริหาร ศธ. ผู้อำนวยการสถานศึกษา คณะกรรมการฯ ผู้สนับสนุนภาคเอกชน และภาคประชาสังคมของโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เข้าร่วมกว่า 200 คน ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ

รมช.ศธ. กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือดังกล่าว เพื่อร่วมกันสนับสนุนโรงเรียน จำนวน 73 แห่งจากทั่วประเทศ ภายใต้การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการบริหารจัดการ ร่วมพัฒนา และสนับสนุนสถานศึกษาภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาคุณภาพ และรังสรรค์นวัตกรรมการบริหารจัดการของสถานศึกษา ให้สามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเตรียมความสำหรับอนาคตให้แก่ผู้เรียน อีกทั้งเพื่อให้สถานศึกษาได้รับโอกาสในการพัฒนาอย่างทั่วถึง นำไปสู่การยกระดับการศึกษา และลดความเหลือมล้ำทางการศึกษา

ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Partnership School Project เป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษา ในรูปแบบ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” ตามนโยบายรัฐบาลด้านการปฏิรูปการศึกษา Thailand 4.0 ที่ให้ความอิสระและคล่องตัวในการบริหารจัดการ ทั้งด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านงานบุคคล และงานทั่วไป การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อตัวผู้เรียน การสนับสนุนทรัพยากรที่เหมาะสมและจำเป็น โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 รุ่นที่ 1 ในสถานศึกษา 50 แห่งจาก 34 จังหวัด โดยมีภาคเอกชนรวมและหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม 12 หน่วยงาน และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาถึงรุ่นที่ 3 ในสถานศึกษาอีก 73 โรงเรียน และมีผู้สนับสนุนกว่า 20 หน่วยงาน ถือเป็นความก้าวหน้าตามเป้าหมายของโครงการ ในการขยายสถานศึกษาเข้าร่วมพัฒนาครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด

โดยการดำเนินโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) ในปีนี้ มีแนวคิดสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษา ภายใต้บทบาทความร่วมมือระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ และบริษัท มูลนิธิ องค์กร หรือสถาบัน ที่มีส่วนร่วมบริหารสถานศึกษาซึ่งเป็นส่วนขยายของโรงเรียนประชารัฐ และสนับสนุนทรัพยากร โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการศึกษาด้านต่าง ๆ ตามเป้าหมายการพัฒนา 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 2) การพัฒนาครู 3) การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา และ 4) การพัฒนาคุณภาพการบริหาร

นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง

ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ

สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟิก

ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน

30/3/2566

[Sassy_Social_Share]