“เลขาฯอรพินทร์” เปิดการแข่งขัน Coding สร้างนวัตกรรมด้วยบอร์ดสมองกล ชื่นชมช่วยสร้างทักษะคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็นขั้นตอน ต่อยอดสู่สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้งานได้จริง หนุนจัดโครงการต่อเนื่องต่อไป
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 เวลา 9.00 น. นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการแข่งขัน Coding สร้างนวัตกรรม Rovermaze ด้วยบอร์ดสมองกล ณ ห้องประชุมเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ โรงเรียนศึกษานารี โดยมีนายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กรุงเทพมหานคร เขต 1 นายขจิตพันธ์ สุวรรณสิริภักดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษานารี คณะครู และนักเรียน เข้าร่วม
เลขานุการ รมว.ศธ.กล่าวว่า การเรียนรู้ Coding มีความจำเป็นทางศึกษาไทยในยุคที่มีการใช้สื่อเทคโนโลยีดิจิทัล โดยส่งเสริมการเรียนการสอนในทุกชั้นเรียน เพื่อเป็นภาษาที่ใช้เป็นสื่อกลางในการทำงานร่วมกันให้นักเรียนมีทักษะด้าน Coding ซึ่งเป็นทักษะขั้นพื้นฐานในการวิเคราะห์ แก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน คิดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้นักเรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนสามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่เกิดจากการสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง สนองตอบต่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมฐานความรู้ด้านการวิจัย และเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม
“จากการได้เยี่ยมชมผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียน ต้องขอแสดงความชื่นชมโรงเรียนที่สามารถพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถของครูและนักเรียน ให้เป็นพลังที่มีคุณค่าต่อประเทศชาติ พร้อมขอแสดงความชื่นชมสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้เรียนที่ประสบกับภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน ด้วยกิจกรรมเชิงรุก (Active Learning) เพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน ด้วยรูปแบบที่สนุกสนาน ทำให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าต่อสิ่งที่เรียนรู้และสามารถนำไปใช้ได้จริง ดังนั้น โครงการแข่งขัน Coding สร้างนวัตกรรม Rover maze ด้วยบอร์ดสมองกล จึงเป็นอีกโครงการหนึ่งที่สอดคล้องกับจุดเน้นกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2566 ที่สมควรสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องต่อไป” เลขานุการ รมว.ศธ.กล่าว
โครงการแข่งขัน Rovermaze ด้วยบอร์ดสมองกล มีผู้เข้าร่วมแข่งขันจากโรงเรียนใน สพม.กรุงเทพมหานคร เขต 1 รวมจำนวน 103 คน กำหนดจัดเป็นเวลา 2 วัน คือ ในวันที่ 11 กันยายน 2565 เป็นการจัดอบรมโดยวิทยากร และวันที่ 28 กันยายน 2565 เป็นการจัดการแข่งขัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครูและนักเรียนมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมภาษาซีเบื้องต้น การใช้งานบอร์ดการเรียนรู้สมองกล และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ในการสร้างนวัตกรรม Rovermaze ด้วยบอร์ดสมองกล