เลขาฯ อรพินทร์ เร่งผลักดัน “ห้องเรียนอาชีพ” ต่อเนื่อง พร้อมเป็นสักขีพยาน MOU หลักสูตรร่วม สพม.กทม.-สารพัดช่างพระนคร-4 โรงเรียนมัธยม หวังสร้างคน สร้างงาน สร้างอาชีพ ตามนโยบายรัฐบาล-ศธ.
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 เวลา 8.30 น. ณ วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ. เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรห้องเรียนอาชีพ ระหว่าง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กรุงเทพฯ เขต 2 โดย นายสุชน วิเชียร์สรรค์ ผอ.สพม.กรุงเทพฯ เขต 2 กับ วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร โดยนางเบญจวรรณ ปกป้อง ผอ.วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร และโรงเรียนสังกัด สพม.กรุงเทพฯ เขต 2 จำนวน 4 แห่ง ตลอดจนผู้ประกอบการ พร้อมเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรห้องเรียนอาชีพ เพื่อจัดการเรียนการสอนจากการปฏิบัติจริง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตั้งแต่อยู่ในรั้วโรงเรียน
นางสาวอรพินทร์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรห้องเรียนอาชีพในครั้งนี้ เกิดจากนโยบายการบริหารจัดการแผนบูรณาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ดิฉันได้ริเริ่มนำนโยบายรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการในการทำงานสร้างงานสร้างอาชีพแก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษา โดยบูรณาการเชื่อมโยงของหน่วยงานและบุคลากรสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผสานพลังจาก สพม.กรุงเทพฯ เขต 2 โรงเรียน และสถานประกอบการ เพื่อจัดการศึกษาก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนของเรา
โดยในครั้งนี้ วิทยาลัยสารพัดช่างพระนครได้ร่วมกับ โรงเรียนในสังกัด สพม.กรุงเทพฯ เขต 2 จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี โดยนางอาลัย พรหมชนะ ผู้อำนวยการโรงเรียน, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รัชดา โดยนายสันต์ธวัช ศรีคำแท้ ผู้อำนวยการโรงเรียน, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้ากุนนที นางธัญมัย แฉล้มเขตต์ ผู้อำนวยการโรงเรียน และโรงเรียนจันทร์หุ่นบำเพ็ญ นางจินตนา ถาคำ ผู้อำนวยการโรงเรียน ในโครงการห้องเรียนอาชีพ มุ่งให้ผู้เรียนมีทักษะสามารถประกอบอาชีพ ตามกรอบคุณวุฒิวิชาชีพระดับ 1 หรือระดับ 2 ในสาขาอาชีพที่ถนัดและสนใจ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทำหน้าที่วิเคราะห์หลักสูตรให้สอดคล้องกับรายวิชาในกลุ่มสาระการงานอาชีพตามบริบทของวิทยาลัย และบูรณาการจัดการเรียนการสอนร่วมกัน อีกทั้งนักเรียนยังสามารถสะสมหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อโอนผลการเรียนที่สะสมไว้เข้าสู่หลักสูตร ปวช. ปวส. เมื่อขึ้นทะเบียนเรียนในสถานศึกษาสังกัด สอศ.
ทั้งนี้ ขอให้เพิ่มสาขาอาชีพใหม่ที่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล 4.0 อาทิ แมคอัพอาร์ตทิส เพ้นท์เล็บ แฟชั่นดีไซน์ จิวเวอร์รี่ดีไซน์ การขายออนไลน์ การติดตั้งโซล่าเซลล์ อีสปอร์ต เป็นต้น พร้อมเป็นกำลังใจให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ร่วมฟื้นฟูการจัดการศึกษาหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
[Sassy_Social_Share]