เสมา 2 พบปะชาว สสวท. ย้ำจัดการศึกษาตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”

วานนี้ (วันที่ 26 กันยายน 2566) นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) พบปะผู้บริหารและบุคลากรสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจาก พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ให้กำกับดูแล โดยมี รองศาสตราจารย์ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการ สสวท. คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากร เข้าร่วม ณ สำนักงาน สสวท. ห้อง M2 ชั้น 9 อาคารสิริภิญโญ เขตพญาไท กรุงเทพฯ

รมช.ศธ. กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ได้มาพบปะคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากร สสวท. ในฐานะหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ และในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล สสวท. มีความตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” อย่างมีประสิทธิภาพ จากการรายงานทราบว่า สสวท. ได้ดำเนินการสอดรับกับนโยบายการศึกษาอยู่แล้ว เช่น ในเรื่องของการแจกแท็บเล็ต ที่จะต้องมีแพลตฟอร์มและเนื้อหาที่มีคุณภาพก่อนจะแจก ซึ่ง สสวท. มีแพลตฟอร์มและเนื้อหาที่เป็นประโยชน์หลากหลาย ที่สามารถนำเข้ามาใช้ในกระบวนการเรียนรู้ได้

“ผมมีความเชื่อมั่นว่า สสวท. จะเป็นหน่วยงานสำคัญที่ร่วมกันพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีแก่เด็กไทย ในส่วนของเนื้อหาที่จะนำมาอยู่ในแพลตฟอร์มการศึกษานั้น องค์กรเครือข่ายของ สสวท. ที่มีศักยภาพ ก็สามารถมาร่วมมือกันได้อย่างเต็มที่ พร้อมขอย้ำถึงแนวการทำงานว่า ผมเน้นความเรียบง่าย โดยจะหมุนเวียนมาพบปะรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อความคล่องตัวและไม่กระทบเวลาทำงานของทุกคน ในขณะเดียวกัน ก็ต้องการให้ทุกหน่วยงานในกำกับของ ศธ. ร่วมทำงานกันอย่างใกล้ชิดด้วย” รมช.ศธ. กล่าว

รองศาสตราจารย์ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวต้อนรับพร้อมแนะนำคณะผู้บริหาร สสวท. แนะนำภารกิจของ สสวท. โดยภารกิจส่วนใหญ่มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เช่น การเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรีมีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต) ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ขยายผลสู่การเรียนรู้แบบออฟไลน์ และการศึกษาทางไกล พัฒนาและปรับปรุงระบบการอบรมครู ระบบการสอบออนไลน์ และเผยแพร่สื่อผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของ สสวท. พัฒนาหลักสูตร สื่อ หนังสือเรียน การจัดการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลและนำเข้าสู่ระบบการเรียนรู้ออนไลน์ เช่น My IPST, บทเรียนออนไลน์ Project 14 ครอบคลุมเนื้อหาทุกระดับชั้น เป็นต้น และจัดทำชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนด้วยสื่ออุปกรณ์ที่หลากหลาย เหมาะสมกับช่วงวัย โดยผู้เรียนสามารถเลือกได้ตามความสนใจ

นอกจากนี้ ยังดำเนินโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ โดยยกระดับคุณภาพโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้พื้นที่ต่าง ๆ ด้วยการพัฒนาหลักสูตร สื่อ และโรงเรียนคุณภาพ ตลอดจนพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนวิทยาศาสตร์พลังสิบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชน, ระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต ส่งเสริมแนวทางการจัดการเรียนการสอนเชิงสมรรถนะ เน้นกระบวนการคิดแก้ปัญหา พัฒนาหลักสูตรสมรรถนะเชิงพื้นที่ ส่งเสริมการนำ STEM Education มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ ทั้งนี้ สสวท.ได้เสนอแนะถึงเรื่องของทุนการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ทุน พสวท.) ซึ่งเด็กที่เรียนจบส่วนใหญ่ต้องการไปทำงานในหน่วยงานอื่น (ไม่ได้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ) จึงเกิดความลังเลในการขอรับทุนศึกษาต่อ และเรื่องของงบประมาณด้านการบริหารจัดการที่ยังไม่เพียงพอ

ศิจิตรา ทรงเจริญ: สรุป

นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง

สถาพร ถาวรสุข: ถ่ายภาพ

สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟิก

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน

27/09/2566

[Sassy_Social_Share]