เสมา 2 ย้ำ ศธ.พร้อมขับเคลื่อนการศึกษา 2568 ด้วยความร่วมมือทั่วไทย ตามแนวทาง “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” สร้างเยาวชนดีมีคุณภาพ
เสมา 2 ย้ำ ศธ.พร้อมขับเคลื่อนการศึกษา 2568 ด้วยความร่วมมือทั่วไทย ตามแนวทาง “ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ” สร้างเยาวชนดีมีคุณภาพ
วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2567) เวลา 09.00 น. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมโครงการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ โดยมี นายปิยะ ปิจนำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์, นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้บริหาร ศธ. และบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วม ณ โรงแรมเทพนคร (อัลวาเรซ) จังหวัดบุรีรัมย์
รมช.ศธ. กล่าวว่า การประชุมฯ ในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดี ที่ผู้นำด้านการศึกษา ทั้งจากหน่วยงานส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคทั้ง 18 ภาค และ 77 จังหวัดมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงรับทราบทิศทางและเป้าหมายในการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน และเป็นไปตามแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องเชื่อมโยงกับนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นรูปธรรม
“กลไกในการทำงานในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) มี รมว.ศธ. เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กำหนดทิศทางการทำงานในระดับภูมิภาคหรือจังหวัด โดยมีสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นเสมือนตัวแทนของ ศธ.ในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นเสนาธิการ วางแผน ขับเคลื่อนการศึกษาในกลุ่มจังหวัดและจังหวัด โดยอาศัยกลไกของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) นอกจากนี้ ยังส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาแบบบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ดังนั้น กศจ. จึงถือเป็น “จุดแข็ง” ของ ศธ. ในการประสานการทำงานในภูมิภาค สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 ที่เน้นการปฏิบัติภารกิจเชิงพื้นที่ร่วมกัน เพื่อให้ส่วนราชการตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่
ผมเชื่อมั่นว่า สำนักงานศึกษาธิการภาคทั้ง 18 ภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด จะเป็นกำลังสำคัญ และเป็นตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนภารกิจที่ตอบสนองต่อนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และตอบสนองต่อเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดและจังหวัดได้อย่างแน่นอน รวมทั้งผู้ตรวจราชการ ศธ. ยังเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ และให้ข้อเสนอแนะแก่ศึกษาธิการจังหวัด ในการขับเคลื่อนนโยบายเรียนดี มีความสุข ตามข้อสั่งการของ รมว.ศธ. ทั้งในเรื่องของนำเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษากลับเข้ามาเรียนให้ได้มากที่สุด (Zero Dropout) ซึ่งมีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ที่ทุกท่านจะได้ช่วยกันระดมความคิดเห็น เพื่อหาแนวทางในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป” รมช.ศธ.กล่าว
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/กราฟิก
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ฤทธิเกียรติ์ ยศประสงค์: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
14/11/2567