เสมา 2 กล่าวเปิดการประชุมนานาชาติ สนับสนุนการศึกษาพหุภาษาแก่เด็กในพื้นที่ห่างไกล
วันนี้ (4 ตุลาคม 2566) นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ร่วมกล่าวเปิดการประชุม International Conference on Language and Education” ครั้งที่ 7 ในวันพุธที่ 4 ตุลาคม 2566 ณ โรงแรม รอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ พร้อมร่วมอภิปรายแบ่งปันประสบการณ์ของประเทศด้านการศึกษาพหุภาษา รวมทั้งแนวคิดเรื่องบทบาทที่สำคัญของภาษาในการบรรลุเป้าหมายด้านการศึกษาและรับรองคุณภาพการเรียนรู้ โดยมี Ms.Soohyun Kim (ซู ฮยอน คิม) ผู้อำนวยการ สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ Ms.Debora Comini (เดโบรา โคมีนี) ผู้อำนวยการยูนิเซฟประจำภูมิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจากประเทศสมาชิก อาทิ กัมพูชา ฟิจิ นาอูรู เนปาล ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
รมช. ศธ เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย กล่าวต้อนรับในพิธีเปิดการประชุม ความตอนหนึ่งว่า การขับเคลื่อนการศึกษาในประเทศไทย ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากเด็กนักเรียนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม คลอบคลุมถึงนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลรวมถึงเด็กชาวเขาชนเผ่าต่าง ๆ นักเรียนที่ไม่มีสัญชาติ และลูกหลานของคนงานอพยพ ทำให้อัตราเด็กตกหล่น (Learning Loss) ลดลง
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตระหนักถึงปัญหาในการเรียนรู้ภาษาไทยจากเด็กนักเรียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ จึงได้พัฒนาสื่อการสอน อาทิ สื่อการอ่านเพิ่มเติม สำหรับการพัฒนาทักษะในการใช้ภาษาไทย ในระดับนักเรียนปฐมวัย และนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ให้แก่เด็กนักเรียนชาวมลายู ได้เรียนรู้ผ่านสื่อการสอนที่มีภาพประกอบที่สวยงาม สามารถสื่อสารถึงความหมายของคำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ครูสามารถนำมาถ่ายทอด และให้ความรู้ ส่งผลให้นักเรียนมีทักษะการอ่านและเขียนภาษาไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่สนับสนุนการเรียนรู้ภาษาไทยในชุมชนพหุวัฒนธรรมและพหุชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ซึ่งโครงการที่นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากคือ โครงการ “การศึกษาพหุภาษา มลายู-ไทย” เปิดโอกาสให้นักเรียนต่างถิ่น ได้เรียนรู้การอ่านและเขียนภาษาไทยโดยใช้ภาษามลายูท้องถิ่นก่อน แล้วเปลี่ยนไปใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรพิเศษ ซึ่งนักเรียนที่ศึกษาหลักสูตรนี้ ได้รับรางวัล UNESCO King Sejong (เซ จอง) Literacy Prize ปี ค.ศ. 2016 ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของหลักสูตร
“ในนามของกระทรวงศึกษาธิการไทย ขอขอบคุณความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยเป็นสะพานเชื่อมโยงเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะเด็กที่มีภูมิหลังที่ใช้ภาษาของกลุ่มชาติพันธ์และชนกลุ่มน้อย ให้เข้าถึงการศึกษาอีกครั้ง” รมช.ศธ. กล่าวในตอนท้าย
การประชุม International Conference on Language and Education จัดโดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานยูเนสโก (UNESCO) กรุงเทพฯ Asia-Pacific Multilingual Working Group (MLE WG) ยูนิเซฟ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความสำเร็จ และข้อท้าทายในการแก้ไขปัญหาด้านความต้องการทางภาษาของผู้เรียน สำหรับหัวข้อในการประชุมในปีนี้ คือ “Multilingual education for transformative education system and resilient futures” ซึ่งครอบคลุมการสร้างหลักประกันแก่กลุ่มเด็กเปราะบาง เด็กที่มีภูมิหลังที่ใช้ภาษาของกลุ่มชาติพันธ์และชนกลุ่มน้อย สามารถเข้าถึงการศึกษาทุกระดับ
สุวิชา บุญญานุพงศ์: สรุป/กราฟฟิก
ฤทธิเกียรติ ยศประสงค์: ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
4/10/2566