โฆษก ศธ. ถอดบทเรียนเหตุความรุนแรงกลางห้างดัง นำหลักนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ป้องกันเหตุในอนาคต
วันนี้ (4 ตุลาคม 2566) นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ แถลงกรณีเยาวชนใช้อาวุธก่อเหตุความรุนแรงในห้างสรรพสินค้าใหญ่ย่านใจกลางเมือง โดยเปิดเผยว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ได้แสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บ พร้อมแสดงความห่วงใยกับกรณีที่เกิดขึ้น หลังจากที่ทราบเหตุได้มอบหมายให้ติดตามสถานการณ์ และได้รับรายงานว่าโรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนการศึกษาทางเลือกตามอัธยาศัย ตาม พ.ร.บ.การศึกษา 2542 ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหลักสูตรการเรียนการสอนเน้นสาระวิชาและรูปแบบทางเลือก มีนักเรียน 800 คน ครู 115 คน ถือเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมและมีสัดส่วนครูกับนักเรียนที่ดี
จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ศธ.จะร่วมถอดบทเรียน โดยเฉพาะตัวหลักสูตรแกนกลางที่ใช้ในการกำกับดูแลโรงเรียนทางเลือกให้ครอบคลุม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีกในอนาคต โดยยึดตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ รมว.ศธ. ที่เน้นหลักสูตรสร้างทักษะให้เด็ก มีครูแนะแนวชี้แนะและทำให้เด็กค้นพบเป้าหมายของชีวิต หรือประกอบอาชีพระหว่างเรียนได้ สิ่งสำคัญจำเป็นคือ โรงเรียนต้องมีคนที่รู้สภาพเด็ก ซึ่งที่ผ่านมา ศธ.ได้ทำ MOU กับกรมสุขภาพจิต เพื่อสร้างการรับรู้กับบุคลากรทางการศึกษา ให้รู้วิธีสื่อสารและสังเกตอาการเด็ก พร้อมคอยให้คำปรึกษาแนะนำกับผู้ปกครอง
เบื้องต้นผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาได้ลงพื้นที่แล้ววานนี้ พบว่าผู้ปกครองยังไม่พร้อมให้ข้อมูล จึงไม่อยากให้ด่วนสรุปไปก่อน แต่ถือเป็นโอกาสให้สังคมได้มองย้อนกลับมาดูเรื่องของระบบการศึกษาทุกระบบ และควรทบทวนหรือมีมาตรการดูแลในสถานการณ์เช่นนี้ให้ดีที่สุด เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันเด็กอยู่ในสภาวะกดดันทั้งผู้เรียนและผู้สอนจากความมุ่งหวังของสังคมภายนอกมากมาย จากนี้จึงต้องถอดบทเรียนสำหรับหน่วยงานในสังกัดที่สามารถดำเนินการได้ พร้อมหาข้อตกลงร่วมกัน รวมถึงแนวทางในการแก้ปัญหา ไม่ใช่เฉพาะสถานศึกษาแต่เป็นผู้ปกครองหรือสังคมที่ต้องแนะนำเยาวชนให้ใช้สื่อโซเชียลหรือคอนเทนท์ที่เหมาะสมตามช่วงอายุต่อไป
“การผลักดัน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ ให้ครอบคลุมทันการเปลี่ยนแปลง มีข้อกฎหมายที่เหมาะสมในการพัฒนาการศึกษา ควรจะต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น” โฆษก ศธ. กล่าว
ศิจิตรา ทรงเจริญ: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟฟิก
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: ถ่ายภาพ
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
5/10/2566