เมื่อวันพุธที่ 5 เมษายน 2566 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีปิดพร้อมมอบรางวัลการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2565 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี นายภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ครูและนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกกว่า 400 คน เข้าร่วม ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน การจัดการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ประจำปี 2565 ถือเป็นกิจกรรมที่น่าประทับใจและน่าเผยแพร่เป็นอย่างยิ่งสำหรับคนไทย ขอขอบคุณและยินดีกับนักเรียนทุกคนที่สนใจด้านฟิสิกส์ระดับประเทศ ดิฉันรู้สึกประทับใจและขอชื่นชมที่คุณครู อาจารย์ และนักเรียนทุกคน ที่ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ สติปัญญา จนเกิดเชี่ยวชาญ

“เรื่องของวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เป็นความต้องการและมีบทบาทมากต่อประเทศชาติในปัจจุบัน และมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต ขอให้ทุกคนดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ และให้ความสนใจกับฟิสิกส์ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถ จนเป็นผู้นำการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้า ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการประยุกต์ใช้วิชาการให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในอนาคต” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

โดยการแข่งขันฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 5 เมษายน 2566 มีผู้ได้รับการคัดเลือกระดับภูมิภาคฯ จากสถาบันอุดมศึกษา และนักเรียนจากเครือข่ายของโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม 220 แห่ง รวมถึงเครือข่ายโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เข้าร่วม มีสรุปรางวัลพระราชทาน ดังนี้

อันดับ 1 ทีมชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จังหวัดขอนแก่น
อันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
อันดับ 3 ได้แก่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช.
อันดับ 4 ได้แก่ โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี

การแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สพฐ. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และคณะครู อาจารย์ในระดบอุดมศึกษาที่ร่วมเป็นคณะกรรมการในการตัดสิน การแข่งขันเป็นลักษณะทีม (ทีมนำเสนอ ทีมซักค้าน และทีมวิพากษ์) เป็นการจำลองสังคมจริง มีผู้พูด ผู้ถาม ผู้ตอบด้วยเหตุและผล รวมทั้งผู้วิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้นักเรียนได้นำทฤษฎี ความรู้ และทักษะที่หลากหลาย มาคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาตามโจทย์ที่ได้รับ เป็นการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนสู่มาตรฐานสากล ทัดเทียมกับระดับนานาชาติ

นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง

ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ

สุวิชา บุญญานุพงศ์: กราฟิก

ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน

6/4/2566

[Sassy_Social_Share]